นวัตกรรมช่วยวินิจฉัย ผู้ต้องขังติดเชื้อ ด้วย AI หยุดวงจรการเกิด คลัสเตอร์เรือนจำ อย่างได้ผล

Share

Loading

แม้ว่าในวันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวัน และผู้เสียชีวิต จะลดจำนวนลงแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไว้วางใจได้ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นอยู่ ซึ่งหนึ่งในคลัสเตอร์ใหญ่ที่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง นอกเหนือจาก คลัสเตอร์โรงงานและชุมชนต่างๆ แล้ว เห็นจะเป็น ‘คลัสเตอร์เรือนจำ’ ด้วยจำนวน ผู้ต้องขังติดเชื้อ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นรายวัน บวกกับสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดของผู้ต้องขัง ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อแบบสกัดได้ยาก

ด้วยตระหนักในปัญหานี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) “ทีเซลส์” จับมือราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย กรมราชทัณฑ์ และบริษัทเจเอฟ แอดวาน เมด จำกัด ได้นำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “AI” มาช่วยอ่านผลภาพรังสีทรวงอกของ ผู้ต้องขังติดเชื้อ โควิด19 ควบคู่กับอาสาสมัครรังสีแพทย์ ซึ่งทำให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที ภายใต้โครงการ “รังสีแพทย์จิตอาสา เพื่อแปลผลภาพรังสีทรวงอกในชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือ RadioVolunteer”

นวัตกรรมนี้ จึงถูกนำมาใช้เป็น นวัตกรรมช่วยวินิจฉัยหาผู้ต้องขังติดเชื้อ ซึ่งมีส่วนในการช่วยหยุดวงจรการแพร่กระจายของเชื้อใน คลัสเตอร์เรือนจำ อย่างได้ผล

เปิดแนวคิดสร้าง นวัตกรรมช่วยวินิจฉัย ผู้ต้องขังติดเชื้อ หยุดวงจรการแพร่กระจายโควิดใน คลัสเตอร์เรือนจำ อย่างได้ผล

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางไปทุกส่วน รวมทั้งในทัณฑสถานทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าอัตราการติดเชื้อของในทัณฑสถานเป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก

ทางกรมราชทัณฑ์ จึงได้ขอความอนุเคราะห์ไปยัง ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อขออาสาสมัครรังสีแพทย์ในการแปลผลภาพรังสีทรวงอกของผู้ป่วยในทัณฑสถานที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเป็นที่มาของโครงการ “รังสีแพทย์จิตอาสา เพื่อแปลผลภาพรังสีทรวงอกในชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือ RadioVolunteer”

โดยมี รศ.นพ.วิวัฒนา ถนอมเกียรติ ประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือไปยัง บริษัท เจ เอฟ แอดวาน เมด จำกัด เพื่อสร้างแพลตฟอร์มดิจิตัล ที่เอื้อต่อการแสดงและส่งภาพรังสีจำนวนมากให้อาสาสมัครรังสีแพทย์จากทุกภาคในประเทศไทยได้อ่านจากทุกที่ในทุกเวลาของทุกวัน

ทั้งนี้ ได้คิดค้นร่วมกับการนำนวัตกรรม AI เข้าไปช่วยแปลผลเพื่อให้รังสีแพทย์อ่านได้อย่างรวดเร็วและมั่นใจยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากเป็นการวินิจฉัยโรคโควิด-19 แล้วยังเป็นการคัดกรองวัณโรคไปด้วยในตัว โดยเหตุที่วัณโรคได้มีการแพร่ระบาดในทัณฑสถานมาก่อนแล้ว และการแพร่ระบาดทับซ้อนของโรคโควิด-19 ทำให้การคัดกรองวัณโรคด้วยภาพรังสีทรวงอกซึ่งดำเนินมาก่อนหน้านี้ต้องหยุดชะงักไป

ในส่วนของทีเซลส์ซึ่งได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับราชวิทยาลัยฯ ในเรื่องของการพัฒนา AI ในด้านรังสีวินิจฉัย ที่ผ่านมาได้ออกผลงานไปแล้วเรื่องข้อแนะนำการใช้ AI ในรังสีวินิจฉัย สำหรับโครงการ RadioVolunteer ทีเซลส์จะได้ร่วมกับราชวิทยาลัยฯ วิเคราะห์ผลการใช้ AI ในการวินิจฉัยโรคโควิด-19 และวัณโรคต่อไป

โดยผลการวิเคราะห์นี้จะมีผลเป็นอย่างมากในการพัฒนา AI ตลอดจนแนวทางใหม่ๆ ในการใช้ AI ในระบบสาธารณสุขของประเทศต่อไป เพราะโครงการ RadioVolunteer เปรียบเสมือนเป็นสภาวะแวดล้อม (testing environment หรือ sandbox) ในการทดสอบ AI ครั้งสำคัญ

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กล่าวว่า

“สำหรับในประเทศไทยนั้น งานปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปหลายด้าน มีการตื่นตัว ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและนำมาใช้มากขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาทางทีเซลส์ได้ร่วมมือ และให้การสนับสนุนพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์  โดยเฉพาะ “AI” ที่มีความสามารถช่วยอ่านและประมวลผลด้วยความรวดเร็ว และแม่นยำเข้ามาเป็นผู้ช่วยแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ในการวางแผนการรักษาได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น”

แชร์วิธีการนำนวัตกรรมไปใช้ ให้ได้ประโยชน์ในวงกว้าง จากทีมรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ผศ.พญ.นิทรา ปิยะวิเศษพัฒน์ หัวหน้าแผนกรังสีวิทยา (Imaging Center) MedPark Hospital และ อาจารย์พิเศษ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักของโครงการ RadioVolunteer กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“โครงการนี้เป็นการระดมอาสาสมัครรังสีแพทย์จากทั่วประเทศประมาณ 300 คน ให้การช่วยเหลือของโรงพยาบาลทัณฑสถาน จากโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีรังสีแพทย์ไม่เพียงพอในการแปลผลภาพถ่ายรังสีทรวงอก ซึ่งภาพถ่ายรังสีจะมีส่วนช่วยในการคัดแยกผู้ป่วย ที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ว่าเชื้อลงปอดหรือไม่ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการรักษาและติดตามผลการรักษา”

“ในช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีภาพเอกซเรย์มากกว่า 3,000-5,000 คนต่อวัน (ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564) ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 100,000 คน) ที่กลุ่ม RadioVolunteer ช่วยอ่านผล AI หรือการจัดลำดับความสำคัญ”

“โดย AI ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ จะการแสดงผลความเชื่อมั่นว่ามีความผิดปกติแต่ละชนิด เช่น consolidation, atelectasis, fibrosis, nodule, calcification, pleural effusion, pneumothorax, pneumomediastinum, mediastinal widening, cardiomegaly รวมถึง TB ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและเหมาะสม เนื่องจากการเอกซเรย์ปอดมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของความไว และความจำเพาะในการตรวจหาความผิดปกติในปอด  ในกรณีที่รังสีแพทย์ไม่แน่ใจว่ามีความผิดปกติจริงหรือไม่ AI ก็อาจมีส่วนช่วยในการตัดสินใจ เหมือนเป็นเพื่อนคู่คิดที่อยู่เคียงข้างรังสีแพทย์” ผศ.พญ.นิทรา กล่าว

ผสานความร่วมมือกับ บริษัทผู้เชี่ยวชาญ สร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะ เสริมกำลังรังสีแพทย์ ให้ตรวจ คัดแยก ผู้ต้องขังติดเชื้อ ได้เร็วขึ้น

ด้าน อดิสรณ์ ท่าพริก ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เจ เอฟ แอดวาน เมด จำกัด  กล่าวเพิ่มเติมในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนที่มาร่วมมือกับทีมนักวิจัยและรังสีแพทย์ในโครงการนี้ว่า

“บริษัทได้รับความไว้วางใจในการจัดทำระบบ PACS (Picture Archiving and Communication System) คือ ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพ ทางการแพทย์ (medical Images) และรับ-ส่งข้อมูลภาพ ในรูปแบบ Digital”

“โดย PACS ใช้การจัดการรับส่งข้อมูล ผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับเก็บ และจัดส่งภาพ  เป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วย เพื่อคัดกรองและประมวลผลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพปอดของผู้ป่วย ซึ่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทได้มีโอกาสร่วมกับราชวิทยาลัยรังสีแพทย์  โครงการ RadioVolunteer เข้าร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในภาระกิจการจัด platform การแปลผลภาพเอกซเรย์ปอดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 30,000 ราย เพื่อให้แพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถดูแลผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

“ภายใต้โครงการ RadioVolunteer ที่มีรังสีแพทย์อาสาจากทั่วประเทศ พร้อมใจกันเสียสละเข้ามาร่วมในโครงการนี้ น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในประเทศที่มีการทำงานในลักษณะแบบนี้ โดยทีมงานของราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ในการปรับรายงานโครงสร้าง (structure report) ให้สอดคล้องกับการทำงานของบุคลากรจำนวนมากจากที่ต่างๆของประเทศให้ทำงานได้ง่าย และครอบคลุมเนื้อหากับผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ต้องขัง”

“ทั้งนี้ ทางรังสีแพทย์จะเข้ามาแปลผล และรายงานให้อีกครั้งเพื่อความถูกต้อง พร้อมระบุข้อแนะนำต่างๆ ทำให้การอ่านภาพถ่ายรังสีทรวงอก มีความแม่นยำและรวดเร็ว ตอบสนองต่อการนำข้อมูลไปประกอบรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” คุณอดิสรณ์ กล่าวในที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/13/ai-covid-screening-innovation-for-prisoner/