เพราะชีวิตคือชีวิต…ปั้นแพลตฟอร์ม CHIVID ตอบโจทย์การแพทย์ทางไกล ช่วยไทยพ้นภัยโควิด-19

Share

Loading

ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่กินระยะเวลายาวนานเกือบ 2 ปี “ปตท.” เป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำระดับประเทศ ที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของทุกชีวิตภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ล่าสุดสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ภายใต้การสนับสนุนของ ปตท. ร่วมมือกับบริษัท เมดเอนไซ จำกัด (Medensy) ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น CHIVID (ชีวิต) เพื่อช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ในการติดตามอาการและดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน การกักตัวในชุมชน และโรงพยาบาลสนาม ได้อย่างสะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่กำลังมาแรงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะช่วยลดการสัมผัสใกล้ชิด และส่งเสริมมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมได้เป็นอย่างดี

แอปพลิเคชัน CHIVID เป็นแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกในการเฝ้าระวังและติดตามสังเกตอาการของผู้ป่วยในระยะทางไกล ได้ออกแบบและปรับปรุงให้มีความสะดวกในการใช้งานสำหรับผู้ป่วยเพื่อส่งข้อมูลเข้าระบบ และระบบคัดกรองอาการโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลก่อนการวินิจฉัยโดยแพทย์ นับเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้แบ่งเบาภาระของแพทย์ในห้วงเวลาวิกฤตนี้ได้อย่างดียิ่ง

ปัจจุบัน CHIVID ได้ถูกนำไปใช้ติดตามผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) กักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) และโรงพยาบาลสนามหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน โรงพยาบาลบางปะกง และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นต้น

ทั้งนี้ แอปพลิเคชันดังกล่าว สามารถพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อนำไปต่อยอดการใช้งานในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยต่อไปในอนาคตได้อย่างกว้างขวาง สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่ผู้คนต่างมุ่งเน้นการดูแลรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรักษาด้วยการแพทย์ทางไกลซึ่งมีประโยชน์มหาศาล เพราะช่วยลดต้นทุนทั้งในเรื่องของการเดินทาง เวลา และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับทั้งแพทย์และผู้ป่วย

เบื้องหลังของ CHIVID ทีมผู้วิจัย ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการแพทย์ สาธารณสุข เทคโนโลยี และผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ชั้นนำของประเทศไทย ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย ดร.ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC), นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ ศูนย์สารสนเทศและนวัตกรรมข้อมลูศิริราช (SIData+) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, พ.ญ.แสนดี รัตนสมฤกษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เมดเอนไซ จำกัด หรือ MEDENSY ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ และ นพ.จิรภัทร บุนนาค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากการนำ AI-basefeature ที่ชื่อว่า PACMAN เข้ามาช่วยในการกรอกข้อมูล เพียงถ่ายรูปค่าจากหน้าจอเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter) รุ่นอะไรก็ได้ จากนั้นระบบจะแปลผลภาพถ่ายเป็นตัวเลขให้อัติโนมัติพร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องต่อไป

โดย AI ทำให้การอัพเดทอาการป่วยรายวัน วันละอย่างน้อย 2-3 รอบ เป็นไปอย่างง่ายดายและราบรื่น เนื่องจากบางที่มีการเก็บค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ก่อนและหลังออกกำลังกาย ตอบโจทย์ผู้ป่วยหลายรายที่ยังไม่เข้าใจว่าเลข SpO2 และ HR เป็นค่าอะไร (Heart Rate-อัตราการเต้นของหัวใจมีหน่วยเป็นครั้ง/นาที) ขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการกรอกข้อมูลผู้ป่วยอีกด้วย

สำหรับแผนการพัฒนา CHIVID ในขั้นตอนต่อไป คือ การขยายระบบฐานข้อมูลเพื่อรับรองจำนวนข้อมูลผู้ป่วยที่จะเข้าใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ใน CHIVID ไม่ว่าจะเป็น

  • วิดีโอบันทึกการหายใจของผู้ป่วยแบบอัตโนมัติ จากปกติที่บุคลากรทางการแพทย์จะนับอัตราการหายใจของผู้ป่วยโดยสังเกตจากคลิปวิดีโอที่ได้รับจากผู้ป่วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน
  • ข้อมูลสัญญาณชีพ (Vital Sign) ของผู้ป่วยในแต่ละช่วงเวลา นำมาใช้เพื่อวิเคราะห์และทำนายอาการของผู้ป่วยว่ามีแนวโน้ม ที่จะดีขึ้นหรือแย่ลงภายในจำนวนกี่วัน จากข้อมูลรายงานย้อนหลัง ช่วยให้แพทย์วางแผนในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ข้อมูลการระบุสถานะของผู้ป่วยจากแพทย์ เนื่องจากเกณฑ์ในการกำหนดสถานะของผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย เช่น การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และโรคประจำตัว เป็นต้น จึงต้องมีการเก็บข้อมูลจากการตัดสินใจและจากประสบการณ์ของแพทย์ เพื่อนำมาพัฒนาระบบการเปลี่ยนสถานะของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น
  • ข้อมูลและประวัติการใช้งาน CHIVID ของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานโดยละเอียด ซึ่งจะไปสู่การประเมินประสิทธิภาพของการเฝ้าระวัง ติดตามอาการ และดูแลรักษาผู้ป่วย
  • ข้อมูลการจ่ายยาโดยแพทย์ เพื่อนำมาสร้างระบบแนะนำการสั่งยาสำหรับบุคลากรทางแพทย์ที่ยังไม่มีประสบการณ์ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพโดยเท่าเทียมกัน

  • เพิ่มศักยภาพในการอัพโหลดข้อมูลต่างๆ จากผู้ป่วยให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ภาพวีดีโอท่านั่ง ท่านอน เสียงไอ รวมถึงข้อมูลจากอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Wearable Device)
  • ใช้อุปกรณ์อื่นๆ มาต่อยอดให้ AI สร้างโมเดลทำนายในการวินิจฉัยโรค เพื่อพัฒนาการติดตามผู้ป่วยระยะไกล (Remote Health Monitoring) ของประเทศไทย
  • พัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพ (HealthTech Ecosystem) ที่เกิดจากการร่วมมือ ของ VISTEC ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและ MEDENSY ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาซอฟท์แวร์ทางการแพทย์
  • พัฒนาแอปพลิเคชั่นให้เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอื่นๆ ภายในประเทศไทย เช่น Health Link, SI-VISTEC sandbox และ VISAI เป็นต้น
  • พัฒนาเป็นระบบการติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2564 นี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ) การมีเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นอีกแนวทางสำคัญของการพัฒนาต่อยอด CHIVID ในอนาคต

ซึ่งหากโรงพยาบาลไหนสนใจอยากใช้งานระบบ CHIVID ก็สามารถติดต่อได้ที่ LINE@medensy หรือ inbox Facebook Fanpage: Interfaces ได้เลย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/22/ptt-chivid-telemedicine/