ศูนย์ CVM พลิกคนอาชีวะสู่อุตสาหกรรม S Curve

Share

Loading

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) จำนวน 25 แห่ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ขับเคลื่อนการศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบอาชีวศึกษามีอาชีพ และมีรายได้ที่เหมาะสม โดยการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) รวมถึงมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) มีการจัดกลุ่มสถานศึกษา จำแนกตามสาขาวิชาที่เปิดสอน คัดเลือกสถานศึกษากลุ่มความเป็นเลิศ (Excellent Center) และเชี่ยวชาญเฉพาะที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการในสาขาที่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพ และกลุ่มอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S Curve) โดยความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่การปรับหลักสูตรภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนการพัฒนาครูวิชาชีพในสาขาวิชาต่างๆ ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ

นำร่อง 8 สาขา 8 วิทยาลัย

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการวิเคราะห์และการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาของสภาการศึกษา ซึ่งเป็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ด้วยการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำนโยบายไปเร่งดำเนินการถอดบทเรียนการพัฒนาหลักสูตรแนวใหม่ เพื่อเตรียมการขยายผลไปยังวิทยาลัยที่เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ CVM และศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้นแบบการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเริ่มต้นด้วย 8 สาขาอาชีพตาม NQF ดำเนินการใน 8 วิทยาลัยนำร่อง คือ

  • (1) วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี สาขาโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน (ระบบราง)
  • (2) วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี สาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
  • (3) วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
  • (4) วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด สาขาปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน
  • (5) วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา สาขาอาหาร
  • (6) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี สาขาเกษตร
  • (7) วิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์
  • (8) วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม สาขาแม่พิมพ์/เครื่องมือทางการแพทย์

วท.ชลบุรี พร้อมเดินหน้า

นายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนึ่งในสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเป็น Excellent Center และศูนย์ CVM สาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางรางในการผลิตและพัฒนากำลังคน กล่าวถึงการปรับตัวครั้งนี้ว่า การเรียนการสอนยุคใหม่ นอกจากจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว ยังต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับโลกยุคใหม่ ด้วยแนวทางยืดหยุ่น ปรับวิธีการเรียนการสอนและการประเมินผลวัดผล ให้สอดคล้องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 3 รูปแบบ คือ Online, Onsite และผสมสาน โดยที่มุ่งเน้นให้เกิดการเรียนอย่างมีคุณภาพ ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้แนวทางไว้

“ยกตัวอย่างภาควิชาปฏิบัติของอาชีวะ ก่อนหน้านี้เราคุ้นเคยกับการฝึกในวิทยาลัยหรือโรงงานอุตสาหกรรม แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นักศึกษาไม่สามารถเดินทางมาวิทยาลัยหรือไปในโรงงานอุตสาหกรรมได้ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จึงได้ทดลองนำร่องจัดโครงการฝึกอบรมออนไลน์ (Online) แบบผสมผสาน โดยการจัดส่งชุดอุปกรณ์ทางไปรษณีย์ไปให้ผู้เรียนที่บ้าน จำนวน 40 คน เพื่อใช้ในการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรการอบรม “พัฒนาความรู้และทักษะวิชาชีพด้านการใช้โปรแกรมจำลองการทำงานระบบอาณัติสัญญาณและการควบคุมรถไฟ” โดยการอบรมได้รับความสนใจ และสร้างบรรยายกาศของการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาเป็นอย่างมาก” ผอ.วท.ชลบุรี กล่าว

ซึ่งการอบรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือสนับสนุนจาก บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อัลสตอม ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) พร้อมทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ (มหาชน) บรรยายเรื่อง “การเตรียมความพร้อมเพื่อขอเข้ารับการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบ” ช่วยให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ลดภาระครู นักเรียน ลดความตึงเครียดจากการเรียน โดยจะนำแนวทางดังกล่าวจัดการเรียนการสอน Online แบบผสมผสานนี้ขยายผลไปใช้ในสาขาวิชาอื่นๆ อีกด้วย

EEC HDC เชื่อมความสมบูรณ์

คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อีอีซีเชื่อมโยงสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยล่าสุดได้ร่วมมือกรมการขนส่งทางราง, ศูนย์ CVM กระทรวงศึกษาธิการ และ สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) ปรับโครงสร้างการพัฒนากำลังคนทั้งระบบ ดึงกรมการขนส่งทางรางเป็นแกนนำร่วมมือกับสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย และศูนย์ CVM ของอาชีวะ เพื่อประสานสร้างหลักสูตรให้ครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางยุคใหม่ทั้งหมด โดยจะมีสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของกรมการขนส่งทางรางเป็นแกน ประสานกลุ่มมหาวิทยาลัยผ่าน มทร.อีสาน และสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ร่วมกับศูนย์ CMV อาชีวะ ที่มี วท.ชลบุรีเป็นสถาบันประสาน 8 วิทยาลัยอาชีวะ โดย EEC HDC จะเป็นแกนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางเชื่อมสนามบิน ยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC เข้าร่วมสร้างพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมรางทั้งระบบ ทันการใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่จะเปิดในปี 2568 ต่อไป

ก้าวสู่อุตสาหกรรม S Curve

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ CVM ว่า จะช่วยระบบการศึกษาอาชีวะมีศักยภาพในการบริหารจัดการในสาขาที่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพ และกลุ่มอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ โดยการพัฒนาผู้เรียน 9 ใน 10 สาขาอุตสาหกรรมหลักเป้าหมายของประเทศ ได้แก่

  • 1 อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
  • 2 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  • 3 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • 4 อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
  • 5 อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
  • 6 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม
  • 7 อุตสาหกรรมขนส่งและการบิน
  • 8 อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
  • 9 อุตสาหกรรมดิจิทัล
  • รวมถึง 1 อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา

ความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่การปรับหลักสูตรภาคทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนการพัฒนาครูวิชาชีพในสาขาวิชาต่างๆ ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ จะตอบโจทย์การผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพ ให้มีความสอดคล้องตามบริบทเชิงพื้นที่ สร้างกำลังคนคุณภาพของประเทศให้มีเพียงพอและตรงกับความต้องการกำลังคนของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S Curve) รองรับการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/08/23/center-of-vocational-manpower-networking-management/