DORI Standard เป็นมาตรฐานสากล International Standard BS EN62676-4 ที่กำหนดระดับความละเอียดของภาพโทรทัศน์วงจรปิดแบบ Digital มีหน่วยวัดเป็น จุดต่อเมตร (Pixels Per Meter: PPM) เพื่อการเลือกกล้องกับเลนส์ (Camera sensor & Lens) ให้ได้ภาพตามวัตถุประสงค์ของงานแต่ละประเภท นิยามความชัด DORI คือ
D: Detection ตรวจจับ 25 PPM
O: Observation สังเกตุการณ์ 62 PPM
R: Recognition จำแนกได้ 125 PPM
I: Identification ระบุตัวตน 250 PPM
มาตรฐาน BS EN62676-4: 2015 กำหนดระดับความชัดของภาพในระบบโทรทัศน์วงจรปิด DORI Standard คือ
Detection: การตรวจจับ ในการเฝ้าดู หรือการตรวจสอบพื้นที่ด้วยภาพ ที่สามารถบ่งชี้ได้ เช่น เป็นคน หรือยานพาหนะ เข้ามาในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยมีความละเอียดของภาพตั้งแต่ 12.5 PPM
Observation: ใช้ตรวจสอบลักษณะของบุคคล เช่น การแต่งกาย ความเคลื่อนไหวทิศทาง บอกจุดเด่นของเสื้อผ้า ความหนาแน่นของจำนวนคน โดยภาพต้องมีความละเอียดตั้งแต่ 62.5 PPM
Recognition: ภาพที่ที่สามารถยืนยันบุคคลจากรูปร่าง ลักษณะท่าทางว่าภาพที่เห็นเป็นบุคคลเดียวกับที่เคยเห็นมาก่อนหรือไม่ และสามารถอ่านป้ายทะเบียนยานพาหนะได้ด้วยสายตา แต่ไม่เพียงพอต่อการอ่านป้ายทะเบียนด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (LPR: License Plate Recognition) โดยมีความชัดของภาพระดับ 125 PPM
Identification ภาพที่สามารถระบุตัวตนได้อย่างชัดเจนไม่ต้องมีข้อสงสัย สามารถแยกความแตกต่างได้ โดยภาพที่มีความชัดตั้งแต่ 250 PPM
PPM Standard หน่วยวัดความชัดของภาพระบบ Digital
Pixels Per Meter คือ “จำนวนจุดต่อ 1 เมตร” วัดความหนาแน่นของจุด (Pixels Density) ที่กำหนดความชัดของภาพในระยะ 1 เมตร เช่น ภาพที่มีความหนาแน่น 250 จุดใน 1 เมตร (250 PPM) เป็นภาพที่สามารถระบุตัวตนได้ (Identification) หน่วยวัดอื่นๆ เช่น PPF (Pixels Per Foot), PPI (Pixels Per Inch), PPCM (Pixels per Centimeter) และสามารถแปลงหน่วยวัดได้ เช่น 2.5 PPCM เท่ากับ 250 PPM เท่ากับ 76 PPF โดยประมาณ เป็นต้น
DORI Standard เป็นค่ามาตรฐานความชัดที่วัดในห้องทดลองและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเป็นค่าขั้นต่ำสุด (Minimum) อย่างไรก็ตามในการใช้งานในระบบโทรทัศน์วงจรปิดซึ่งมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันที่ไม่สามารถควบคุมได้ การใช้ระดับความชัดของภาพจะแตกต่างกันได้ คือ
- Identification in Good Condition 250 PPM ในสภาพแวดล้อมที่แสงสว่างเพียงพอ ความหนาแน่นของจุด 250 PPM ก็สามารถระบุตัวตนได้
- Identification in Poor Condition 500 PPM ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี การระบุตัวตนจะต้องมีความหนาแน่นของจุด 500 PPM
สภาพแวดล้อม และการติดตั้งกล้อง (Camera Installation) มีผลต่อความชัด คุณภาพของภาพ และประสิทธิภาพ ความแม่นยำในการวิเคราะห์ ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือ
- ความสูง (Camera Height)
- มุมก้ม (Camera Vertical Angle)
- มุมเอียง (Camera Horizontal Angle)
- ปริมาณของแสง (Lighting)
- ทิศทางของแสง (Back Light Effect)
- ฝุ่น หมอก (Dust & Foggy)
- ความสั่นไหว (Vibration)
Inspection: การตรวจสอบ คือ ความชัดของภาพระดับ 1000 PPM เพื่อการตรวจสอบลักษณ์เด่นของภาพ เช่น เสื้อผ้า ลวดลาย เครื่องหมาย เครื่องแต่งกาย กิจกรรมโดยรอบ Inspection มีระบุในเอกสารเรื่อง การวางแผน ออกแบบ ติดตั้ง และใช้งาน ระบบเฝ้าระวังด้วยโทรทัศน์วงจรปิด (planning, design, installation and operation of CCTV surveillance systems) ของ สมาคมอุตสาหกรรมการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศอังกฤษ (British Security Industry Association) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2014 (bsia.co.uk)
ประโยชน์ของการออกแบบด้วย DORI Standard
ภาพโทรทัศน์วงจรปิดเป็นข้อมูลสำคัญของ AI ทั้งในระดับการพัฒนา ที่ต้องการภาพจำนวนมาก (Big Data) ให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องซ้ำๆ หลายมุมมอง (Machine learning / Deep Learning) เพื่อทำให้ AI ฉลาดขึ้น ภาพที่สามารถอ่านได้ ต้องมีความชัดเพียงพอ การออกแบบภาพโทรทัศน์วงจรปิดตามมาตรฐาน DORI จึงนำมาใช้ประกอบด้วย เช่น
- ระบบการจดจำใบหน้า (Face Recognition) Identification 250 PPM
- ระบบวิเคราะห์ อายุ เพศ อารมณ์ (Age, Sex & Mood) Identification 250 PPM
- ระบบวิเคราะห์พฤติกรรม (Behavior) Recognition 150 PPM
- ระบบการนับจำนวนคน (People Counting) Recognition 150 PPM
- ระบบวิเคราะห์ปริมาณ (Heat Map) Observation 62 PPM
- ระบบอ่านป้ายทะเบียนฯ (License Place Recognition) Identification 500PPM
ภาพเพื่อการวิเคราะห์อาจปรับเปลี่ยนระดับความชัดได้ ตามเงื่อนไข และข้อกำหนดของแต่ละผู้ผลิต
กล้องแต่ละตัว จะมีค่า DORI ของตนเอง
ผู้ผลิตบางรายจะระบุค่า DORI ไว้ในเอกสารคุณสมบัติของกล้อง (ตอนต่อไป…)