โรคประจำตัวต้องห้ามขับรถ เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ประกันไม่จ่ายนะจ๊ะ

Share

Loading

  • ตรวจสอบกันหน่อยว่าโรคอะไรบ้างไม่ควรขับขี่ยานพาหนะโดยเด็ดขาด
  • บางโรคก็แทบจะรู้เลยว่าอยู่ในข่ายต้องห้ามขับรถด้วย เช่น เบาหวานและรับประทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง
  • หากเกิดอุบัติเหตุจากอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต้องห้าม ประกันภัยที่ทำไว้มีสิทธิ์ปฎิเสธการรับผิดชอบได้นะ

เคยสงสัยไหมทำไมเวลาทำใบขับขี่ ต่อใบขับขี่ ทำไมต้องมีใบรับรองแพทย์ คำตอบง่ายๆ ก็เพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินความสามารถในการบังคับยานพาหนะว่าปลอดภัยสำหรับตัวเองและเพื่อนๆ บนท้องถนนตามที่แพทยสภากำหนดหรือไม่ โดยจากเดิมกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดโรคต้องห้ามในการขับขี่ 5 โรคด้วยคือ โรคเท้าช้าง วัณโรค (ระดับแพร่กระจาย) โรคเรื้อน โรคพิษสุราเรื้อรัง และผู้ติดสารเสพติด ซึ่งในปัจจุบันกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มโรคต้องห้ามขับขี่มาอีก 9 โรค ดังต่อไปนี้

1 โรคลมชัก

เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติจากระบบประสาทในสมอง หากเจอการกระตุ้นโดยความเครียดหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ก็ทำให้เกิดอาการชัก แสดงอาการเกร็ง กระตุก ไม่รู้สึกตัว และอาจไม่มีสัญญาณบอกเหตุว่าจะเกิดอาการ

2 โรคเกี่ยวกับสายตา

ในที่นี้อาจรวมถึงผู้ที่เป็นต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม ทำให้มุมมองสายตาแคบ มองไฟจราจรไม่ชัดเจน ซึ่งล้วนมีผลกับการบังคับยานพาหนะทั้งสิ้น

3 โรคทางสมองและระบบประสาท

อาจมีอาการหลงลืม จดจำเส้นทางไม่ได้ จนรบกวนการตัดสินใจในการบังคับรถยนต์ได้

4 โรคหัวใจ

หากผู้ขับขี่เจอภาวะเครียด กดดันจากการขับรถ หรือตกใจกับสถานการณ์ตรงหน้า อาจมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายเฉียบพลัน

5 โรคเบาหวาน (ระยะควบคุมไม่ได้)

แม้จะดูไม่ได้ร้ายแรงเท่าไรนัก แต่หากปริมาณน้ำตาลตกขณะขับขี่ ก็อาจเกิดอาการหน้ามืด เป็นลม

6 โรคหลอดเลือดสมอง

ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก ซึ่งเป็นโรคที่หาทางป้องกันไม่ได้ เพียงแต่สังเกตอาการ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด วิงเวียน แขนขาอ่อนแรง หากขับรถอยู่ควรหาที่จอดโดยทันที

7 โรคพาร์กินสัน

ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการสั่นในขณะที่อยู่นิ่งๆ และระบบประสาทจะช้า ทำให้ตัดสินใจช้าลงไปด้วย

8 ข้ออักเสบ ไขข้อเสื่อม

ขยับทีกระดูก ข้อต่อจะปวดร้าวระบม ใช้ร่างกายได้ไม่ถนัด ทำให้ความสามารถในการขับขี่น้อย หรือบังคับอวัยวะได้ไม่ทันกับสถานการณ์

9 รับประทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม

ประมาทไม่ได้เลยนะครับ เพราะการจราจรในปัจจุบัน รถติดเป็นเรื่องปกติ เจอแอร์เย็น เพลงฟังสบาย จากรอรถติดไฟแดงแป๊บๆ จะกลายเป็นโงกศีรษะหลับไปเฉยๆ

เป็นโรคร้ายแรง ประกันภัยคุ้มครองไหม

คำตอบคือมีโอกาสที่ประกันภัยรวมถึง พ.ร.บ. (การประกันภัยภาคบังคับ) มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่จ่ายค่าเสียหายให้แต่อย่างใด หากผู้ขับขี่ก่ออุบัติเหตุอันมีสาเหตุจากโรคที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด

นอกจากตัวเราจะอันตรายแล้ว ยังอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นด้วย ดังนั้นผู้ขับรถจึงควรมีสุขภาพที่เหมาะสมในการบังคับยวดยานพาหนะให้ปลอดภัย หากวันใดมีอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ก็ควรพักผ่อนหรือเลือกโดยสารรถสาธารณะเป็นดีที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/news/auto/tips/2185973