อีอีซี พื้นที่ต้นแบบดันไทยท็อป 10 ประเทศประกอบธุรกิจง่ายที่สุด

Share

Loading

การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 5/2564 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

โดยเฉพาะโครงการด้านการลงทุน นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. อีอีซี ปี 2561 – มิ.ย. 2564 ช่วง 3 ปี เกิดการลงทุนรวมที่ได้รับอนุมัติแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 จากเป้าหมายแผน 5 ปี (2561-65) ของอีอีซี 1.7 ล้านล้านบาท เร็วกว่าเป้าที่กำหนดไว้  แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่

  • 1 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 4 โครงการหลัก (รถไฟฯ/สนามบินฯ/2 ท่าเรืออุตสาหกรรม) มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนจากภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (ร้อยละ 61) จากภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (ร้อยละ 39)
  • 2 การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (จากการออกบัตรส่งเสริมบีโอไอ) มูลค่า 878,881 ล้านบาท (โครงการที่ขอยื่นส่งเสริมลงทุน ช่วงปี 2560 – มิ.ย. 2564 ลงทุนจริงแล้วกว่าร้อยละ 85)
  • 3 การลงทุนผ่านงบบูรณาการอีอีซี มูลค่า 82,000 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนช่วง 6 เดือนที่ผ่าน (ม.ค.-มิ.ย. 64) มีการขอรับส่งเสริมลงทุน 232 โครงการ เงินลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 (จากช่วงเดียวกันปี 63) การอนุมัติส่งเสริมลงทุน 195 โครงการ เงินลงทุน 74,250 ล้านบาท และออกบัตรส่งเสริม 187 โครงการ เงินลงทุน 88,083 ล้านบาท โดยจำนวนขอโครงการสูงสุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนเงินลงทุนสูงสุดคือเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์ สำหรับการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นร้อยละ 64 ของคำขอลงทุนในอีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่สนใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ตามลำดับ

ปักหมุดอนาคต 5 ปีลงทุนไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้าน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงการปรับเพิ่มแผนการลงทุนในอีอีซี 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ไว้ไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยจะมีโครงการหลักประกอบด้วย การลงทุนเมืองการบินภาคตะวันออกประมาณ 1 แสนล้านบาท การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง 1 แสนล้านบาท การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเฉลี่ยอีกปีละ 4 แสนล้านบาท โดยส่วนนี้จะแบ่งเป็นการลงทุนพื้นฐานที่บีโอไอทำได้ปีละ 2 แสนล้านบาท และจะมีการเร่งรัดอีกปีละ 1.5 แสนล้านบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรม 5G อิเล็กทรอนิกส์ปีละ 5 หมื่นล้านบาท การแพทย์สมัยใหม่ปีละ 3 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดยังไม่นับโครงการเมืองใหม่และอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และโครงการภายใต้งบบูรณาการอีอีซี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้ไปพิจารณาการลงทุนด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่กำลังเติบโต

จัดสิทธิประโยชน์ ลดอุปสรรค ดึงดูดนักลงทุน

ที่ประชุม กบอ.ยังได้พิจารณาการวางกรอบสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นำร่องเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเมืองการบินภาคตะวันออก หรือ EECa ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) “การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทย ก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด” และที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกพอ. จัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุม สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ (Demand Driven Customization) เป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

ดัน EECd เมืองดิจิทัลระดับโลกแห่งภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาพื้นที่โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เป็นเมืองดิจิทัลแห่งภูมิภาค ดึงดูดการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซี กำหนดแผนปฏิบัติการ ปี 2564 – 2565 จำนวน 4 แผนหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ 1) จัดทำแผนการดำเนินโครงการ (Master Plan) 2) จัดทำแนวคิดออกแบบโครงการฯ (Conceptual Design) 3) วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และ 4) จัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนและสิทธิประโยชน์

โดยตั้งเป้าหมายไตรมาส 4 จะทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ของโครงการฯ พร้อมเจรจาร่วมกับบริษัท-หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมลงทุน ออกแบบรายละเอียดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในพื้นที่โครงการฯ ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565

สำหรับการพัฒนาโครงการ EECd แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระยะที่ 2 พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์บริการต่างๆ ระยะที่ 3 พัฒนาพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ ระยะที่ 4 พัฒนาพื้นที่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ผสมผสานระบบนิเวศน์ เพื่อการอยู่อาศัยในโลกยุคใหม่

โดยตั้งเป้าให้ EECd เป็นเมืองดิจิทัลระดับโลกในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลแห่งอนาคต และเป็นเมืองอัจฉริยะโดยใช้หลักคิดการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/14/eec-model-for-business-in-thailand/