เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้เปิดเผยผลสำเร็จการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ในโครงการนำร่องที่มีชื่อว่า “Artificial Intelligence for Performance Audit” หรือ AI for PA
แพลตฟอร์มดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลงานตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) ซึ่งเป็นลักษณะงานตรวจสอบด้านหนึ่งของ สตง. เป็นการตรวจสอบว่าการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพียงใด และจัดทำข้อเสนอแนะให้แก่หน่วยรับตรวจในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ
เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานในแพลตฟอร์มนี้ เป็น AI ทางด้านการประมวลผลภาษาหรือที่เรียกว่า Natural Language Processing ซึ่งมีความรวดเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูล แม่นยำ และเข้าถึงรายละเอียดความความสัมพันธ์ระหว่างจุดของข้อมูลที่ถูกมองข้ามไป ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ทางการเงินการคลัง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ระบบปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าว ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในหน่วยงานของรัฐที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยอาศัยข้อมูลสืบค้นจากเอกสารหลายหมื่นฉบับที่เก็บรวบรวมไว้กว่า 20 ปี มาแปลงข้อมูลจากชุดกระดาษไปสู่ข้อมูลดิจิทัล และนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดโครงสร้างในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ (Machine Readable) ตามระบบงานราชการยุคใหม่ที่จะมีความรวดเร็ว คล่องตัวและโปร่งใส
และเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนข้อมูลเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ กรมบัญชีกลาง โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นผู้ลงนาม
ความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงฯดังกล่าวคือ จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลด้านโครงการ และการใช้จ่ายงบประมาณที่ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ผ่านระบบสารสนเทศที่สามารถติดตามข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อีอีซีได้อย่างสะดวก รวดเร็วและบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน เกิดความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้พื้นที่อีอีซีเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและโปร่งใส รวมทั้งเป็นต้นแบบการบูรณาการระบบฐานข้อมูลภาครัฐให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐผ่านทางเทคโนโลยี สร้างการมีส่วนร่วมและเกิดความโปร่งใส
โดยกรมบัญชีกลางจะสนับสนุนข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณจากระบบ GFMIS และข้อมูลสถานะการจัดซื้อจัดจ้างจากระบบ e-GP ให้แก่ระบบสารสนเทศที่ สกพอ. ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลรวบรวมโครงการตามแผนภาพรวมการพัฒนาอีอีซี โครงการและงบประมาณทั้งในและนอกแผนบูรณาการอีอีซี รวมถึงงบประมาณโครงการที่สำคัญของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมถึงระดับชุมชน อำนวยความสะดวกให้ภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำหนดนโยบาย ให้สามารถติดตาม ตรวจสอบ เร่งรัด หรือแม้แต่ปรับปรุงแผนการใช้จ่ายงบประมาณในพื้นที่อีอีซีได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของพื้นที่และทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของการทำงานเชิงรุกแบบบูรณาการ เป็นต้นแบบของการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/09/24/ai-checks-use-of-national-budget/