อีอีซี : จุดตั้งทางภูมิศาสตร์ ที่โดดเด่น สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า และความพร้อมในการสร้างบุคลากรยุคใหม่

Share

Loading

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเครือข่ายคณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออกกลุ่มวิชาการศตวรรษที่ 21 (เครือข่ายนักวิชาการศตวรรษที่ 21) มาพบพูดคุยแนวทางการปรับสร้าง-พัฒนา-เปิดพื้นที่ทางวิชาการใหม่ ในกระแสความเปลี่ยนแปลงปัจจุบันไปสู่อนาคต โดยเฉพาะมิติภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐกิจ ที่เป็นรากฐานสำคัญที่จะขับสร้างความเข้าใจใหม่และความรู้ใหม่ เพื่อปรับความคิด-วิสัยทัศน์ใหม่ ให้ทันโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน!

หากย้อนพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ให้ดี จะพบว่าความเปลี่ยนแปลงวันนี้เป็นผลจากการปรับตัวแข่งขันทางเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีของศตวรรษที่ผ่านมา สงคราม-การค้า-การเมืองระหว่างประเทศ-การสร้างเครือข่ายที่ทำให้เกิดกฎบัตร-ฉันทามติต่างๆ ของโลก ที่ล้วนมีผลต่อการปรับโลกให้เปลี่ยนไปตามทิศการต่อสู้-ครอบงำของภูมิรัฐศาสตร์-ภูมิเศรษฐกิจ-และผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม จนเห็นได้ชัด! โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวหลังยุคสงครามเย็น ที่ประชาคมโลกต่างก็ได้รับรู้อยู่!

แต่กาลเวลาช่วงรอยต่อในการเปลี่ยนผ่านของศตวรรษ มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดความพลิกผันเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนโลกทั้งใบต้องปรับตัวเปลี่ยนสู่โลกศตวรรษที่ 21 อย่างหนักแน่น-รวดเร็ว ซึ่งหากกล่าวว่า “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” เป็นแก่นสารสำคัญของศตวรรษที่ 21 ก็คงไม่ผิดอะไร!

การปรับตัวของภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจศตวรรษที่ 21 ได้ปรากฏให้โลกเห็นถึงหลักคิดพื้นฐานที่แตกต่างกันของ โลกตะวันตก กับ โลกตะวันออก ได้ค่อนข้างชัด!

ในความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาจะพบว่า มหาอำนาจในโลกตะวันตกมุ่งการจัดการดิ้นรนขวนขวายแบบแสวงประโยชน์ใส่ตัว พยายามทุกมิติที่จะชี้นำครอบงำกำกับ-กอบโกยเอาประโยชน์ มีการบริหารจัดการการเมืองแบบที่นำไปสู่การแยกตัว-สร้างประโยชน์เฉพาะตัวอย่างเด่นชัดทีเดียว จะเห็นจากนโยบายอเมริกามาก่อน-หรือการประกาศสร้างความยิ่งใหญ่คืนสู่อเมริกาอีกครั้ง ตามแนวทางการบริหารประเทศ-ภูมิรัฐศาสตร์แบบของทรัมป์ หรือความเคลื่อนไหวของคลื่นการเมืองเบ็สซิกส์ในอังกฤษ ที่มุ่งแยกตัวเองจากประชาคมยุโรปไป-ด้วยคะแนนเฉียดฉิว หลังจากอังกฤษมองย้อนไปว่าการเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับยุโรป ทำให้ตกต่ำสูญเสียผลประโยชน์มากมหาศาล! นี่คือความคิด-การจัดการของโลกตะวันตกที่ปรากฏขึ้น!

ขณะที่ในช่วงกาลเวลาของการเปลี่ยนผ่านนั้น ความเคลื่อนไหวเติบโตของซีกโลกตะวันออกมุ่งเน้นความร่วมมือ-พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือทางการเงินแบบพหุภาคีอย่างธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ AIIB ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย-ที่จีนเป็นโต้โผ รวมถึงการก่อตั้งองค์กรความร่วมมือทางการความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย เคลื่อนไหวกลุ่มการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ BRICS พัฒนาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกโดยปราศจากเข้าร่วมกับอเมริกา และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์-ซึ่งความร่วมมือกลุ่มนี้มี GDP รวมกว่า 30 ล้านดอลลาร์ (ร้อยละ 30 ของ GDP โลก) ครอบคลุมประชากร 3,500 ล้านคน เป็นการเจรจาที่มุ่งสร้างความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยครอบคลุม มีประสิทธิภาพสูง มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการจัดการผลประโยชน์ร่วมกันที่นับเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์!

ศตวรรษแห่งความเปลี่ยนแปลง-ความเร็ว-การปรับตัว-สภาพที่เต็มไปด้วยโอกาส/การทำลายล้างจากความก้าวหน้ายุคใหม่ของเทคโนโลยี ฯ มี “เส้นทางสายไหมใหม่” เป็นแกนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง  ที่ถอดรื้อโลกเก่า-เชื่อมโยงให้เกิดโลกใหม่ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของเศรษฐกิจ สังคม และอารยธรรมที่วนอยู่ในกาลของยุคเดิมๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่เน้นความสัมพันธ์-เครือข่ายความร่วมมือ-การดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม-การจัดการคุณภาพชีวิต-การเข้าสู่วิทยาการใหม่ในระบบนิเวศน์ทางสังคม-การศึกษาใหม่!

การเรียนรู้ปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น น่าเสียดายที่การศึกษาไทย-มหาวิทยาลัย-และบุคลากรในระบบการศึกษากว่าร้อยละ 70 ยังยืนนิ่งขาตายอยู่ในความเคยชินติดยึดเก่า-ระบอบเก่าระบบเดิม ที่ไม่หือไม่อือกับการเปลี่ยนแปลงไปของโลกใบใหม่ มีเพียงราวเกือบร้อยละ 10 เท่านั้นที่ตื่นขึ้นมาพยายามดิ้นรนเปลี่ยนแปลงปรับตัวอยู่ในปัจจุบันขณะ!

ประเทศไทยได้เปิดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ให้เป็นจุดเชื่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงปรับตัวทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจ โดยมีฐานเครือข่ายความร่วมมือกับประชาคมอาเซียนเป็นกลไกเกื้อหนุน รวมถึงการเข้าร่วมมือกับกลุ่มเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือในภูมิภาคทั้งระดับอาเซียน เอเชีย รวมทั้งที่สูงขึ้นและกว้างขวางขึ้นไปในขณะเดียวกัน ตามสภาวะการจัดปรับตัวและการดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ

อีอีซี เป็นพื้นที่เป้าหมายของการยกระดับเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศ ด้วยการตรากฏหมายยกระดับเป็นพื้นที่เขตพิเศษในการสร้างความร่วมมือ-การลงทุน ที่มุ่งกลุ่มเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมใหม่ ที่ก้าวหน้า เพื่อยกระดับประเทศ ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเก่าสู่อุตสาหกรรม 4.0 พัฒนาระบบการสื่อสาร-ระบบข้อมูลแบบ 5G มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ-ความมั่งคั่งใหม่ให้ทันโลก-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม-ลดการทำลายล้างทรัพยากร โดยมุ่งเข้าถึงชุมชนฐานล่าง-การกระจายความก้าวหน้าแบบทั่วถึงหยั่งลึกลงสู่ท้องถิ่น เน้นกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยรวมให้ดีขึ้น-เสมอภาค-เท่าเทียม-ทั่วถึง พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์-การสาธารณสุขยุคดิจิทัลที่ลดความแออัด-คุณภาพสูง มุ่งประสานสร้างความก้าวหน้าใหม่จากนวัตกรรมเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ทุกมิติที่ตอบสนองการปรับฐานเศรษฐกิจสังคมให้เท่าเทียม-ถ้วนทั่ว เป็นก้าวใหม่ของเศรษฐกิจ-การพัฒนาที่เท่าทันโลก-มีความรับผิดชอบแบบ เร็ว-สะอาด-ประสิทธิภาพสูง-มีผลิตภาพทรงพลัง รวมทั้งเศรษฐกิจที่เป็นเทรนด์ของโลกอย่าง BCGs ฯลฯ นี่คือคลื่นพลังการเปลี่ยนแปลงที่ อีอีซี ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ที่วันนี้เคลื่อนไปกว่าครึ่งทางแล้ว!

การเปิดเขตพื้นที่พิเศษ อีอีซี นี้ มีพลังดึงดูดให้กลุ่มเศรษฐกิจใหม่จากทุกมุมโลกเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง จุดแข็งที่เหนือกว่าของอีอีซีคือจุดตั้งทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ที่มีความสะดวก-ปรับระบบคมนาคมโลจิสติกส์ขึ้นอย่างก้าวหน้ารวดเร็ว เชื่อมต่อเส้นทางโลกได้ทุกทิศทางทั้งบก อากาศ ราง และทางถนน อีอีซี อยู่บนจุดตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ตรงศูนย์กลางอาเซียน ใช้เวลาเดินทางทางอากาศแค่เพียงชั่วโมงก็ทำมาค้าขายกับผู้คนได้เกือบพันล้านคน ที่สำคัญคือจุดตั้งทางภูมิศาสตร์ของ อีอีซี ไม่ปรากฏภัยพิบัติรุนแรงทางธรรมชาติใดๆ เลย นี่คือความโดดเด่น และการปรับตัวพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความหมายต่อการลงทุนและการพัฒนายุคใหม่อย่างยิ่ง! ขณะที่สิทธิประโยชน์ในการลงทุนในอีอีซีก็ดีกว่าและเป็นธรรม เมื่อเปรียบกับสิทธิประโยชน์ของเพื่อนบ้านหรือประเทศที่เปิดการลงทุนอยู่ขณะนี้ ประเด็นนี้ดึงดูดให้โลกที่ต้องการคำตอบแบบ วิน-วิน โซลูชั่น สนใจที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมาก ประกอบกับไทยมีความก้าวหน้าในการเป็นห่วงโซ่ที่แข็งแกร่งของหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้วจากการพัฒนาที่ผ่านมา เพียงปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้ก็จะทยานก้าวกระโดดไปต่อแน่!

ปัจจัยที่สำคัญที่โดดเด่นอีกด้านของอีอีซี คือ การพัฒนาบุคลากร ที่ได้ปรับสร้างความก้าวหน้าใหม่ ปรับทิศทางเชื่อมประสานรับความเปลี่ยนแปลง-ตรงกับความเติบโตก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ มีการพัฒนาความรู้วิทยาการ-ทักษะให้สถาบันการศึกษา จัดการพื้นฐานการศึกษาทั้งในระบบ-นอกระบบ เพิ่มประสิทธิภาพ-ความก้าวหน้า-ตอบโจทย์การทำงานในโลกยุคใหม่! ปรับสร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษา-ทักษะใหม่แบบต่อเนื่อง พัฒนาสัมพันธภาพระหว่างภาคอุตสาหกรรม-ผู้ประกอบการกับสถาบันการศึกษา-สถานฝึกอบรมต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการจริง ปรับระบบนิเวศน์การศึกษา-การเรียนรู้-การพัฒนาทักษะยุคใหม่ให้สนองตอบการงาน-การเรียนรู้ใหม่อย่างจริงจัง ปัจจัยเหล่านี้เป็นโลกแวดล้อมที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ไทยไม่ตกยุค-มีพลังที่จะเข้าสู่โหมดการพัฒนาที่ยั่งยืน-ก้าวทันโลก หากระบบระเบียบ-ความร่วมมือของรัฐมีการปรับปรุงให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนไปรวดเร็วในวันนี้ได้อย่างต่อเนื่อง! อีอีซี ก็เชื่อมโลกให้ไทยแล่นได้แน่!!!

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/19/eec-ready-to-run-thailand-economy/