AI…สามารถช่วยธุรกิจได้อย่างไร…ในภาวะถดถอย

Share

Loading

ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าการระบาดของโรคโควิด19 (COVID-19) ทำให้เกิดการชะลอตัวของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ล่าสุดในวันที่ 31 มีนาคม โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะหดตัวถึง 1.8% คิดเป็นสองเท่าตัวของการหดตัวในปี 2552 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ วิกฤตสินเชื่อที่อยู่อาศัยซับไพร์ม (Subprime mortgage crisis) ซึ่งในตอนนั้น บริษัทจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการลดการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด อย่างไรก็ตาม ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทางออกหนึ่งของบริษัทคือการเลือกใช้ AI solution กับโอกาสทางธุรกิจอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้บริษัทของคุณสามารถกลายเป็นผู้ชนะในตลาดที่แข่งขันภายใต้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้

AI สามารถช่วยการจัดการธุรกิจได้มากใน 3 ประเด็นคือ การลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานด้านการเงิน และการหาแหล่งรายได้ใหม่

การลดต้นทุน

  • ด้านงานทะเบียน โดยใช้ AI ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียน เช่น ทำให้มั่นใจในความพร้อมใช้งานของประวัติทางการรักษาพยาบาลของผู้รับบริการ โดยใช้ AI รวบรวม จัดเก็บ จัดรูปแบบใหม่ (reformat) และติดตามข้อมูลประวัติทางการรักษาพยาบาล การลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ด้านการทะเบียนลงนั้นไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพแต่ยังสามารถลดความผิดพลาดได้อย่างมาก เนื่องจากความผิดพลาดสามารถก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากความจำเป็นที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทำงานอีกครั้ง (re-do work)
  • ด้านการบริการลูกค้า โดยใช้หุ่นยนต์สนทนา (AI Chatbot) เนื่องจาก Chatbot สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวันและ 7 วันต่อสัปดาห์ และยังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการจ้างพนักงานตอบรับ โดย Chatbot Magazine กล่าวว่าด้วยการนำหุ่นยนตร์สนทนามาใช้ในธุรกิจสามารถลดต้นทุนการให้บริการลูกค้าถึง 30% อีกทั้งสามารถเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้อีกด้วย
  • ด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักร โดยใช้ AI ในการดำเนินการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive maintenance) เดิมหากไม่มี AI การตัดสินใจบำรุงรักษาเครื่องจักรมักจะใช้การวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยของอายุการใช้งานเครื่องจักรก่อนการเสียหาย (Mean Time to Failure) เพื่อประมาณว่าเมื่อใดที่เครื่องจักรต้องมีการเปลี่ยนชิ้นส่วน แต่เมื่อมี AI ที่สามารถรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักร จะช่วยระบุได้ว่าชิ้นส่วนใดที่มีแนวโน้มที่จะเสียในไม่ช้า เพื่อดำเนินการเปลี่ยนเฉพาะชิ้นส่วนที่ต้องการการทดแทนเท่านั้น

การเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินการทางการเงิน

  • ในการจัดการแบบเรียลไทม์ (Real-time) AI ช่วยการทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์ความต้องการ การจัดการสินค้าคงคลังและลูกหนี้การค้า ทำให้บริษัทสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและคาดการณ์ว่าควรจะจัดสรรงบไปที่ไหนได้ดีกว่าการใช้แค่ข้อมูลสถิติในอดีต
  • ในการตัดสินใจเลือกปิดร้านสาขา เมื่อเกิดวิกฤต หากปราศจาก AI การตัดสินใจนี้จะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของแต่ละสาขาและการวิเคราะห์ประชากร (Demographic analysis) แต่ AI สามารถช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น ด้วยการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าในพื้นที่ที่ให้บริการโดยสาขานั้น ว่าลูกค้าเหล่านี้จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าคู่แข่งซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวกกว่า หรือจะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าออนไลน์หรือจะยอมเดินทางไปไกลอีกนิดเพื่อจะรักษาความภักดีต่อร้านนั้น การพยากรณ์นี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการกระบวนการตัดสินใจปิดร้านสาขา
  • ในการจัดการกับหนี้เสีย ภายใต้ภาวะถดถอยเช่นนี้เป็นปกติที่จะมีหนี้เสีย (Non-Performing Loan) มากขึ้น ทั้งจากลูกค้าชำระเงินล่าช้าหรือลูกหนี้การค้าเลิกกิจการ AI สามารถประเมินข้อมูลลูกค้าทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความน่าจะเป็นที่ลูกค้าจะทำให้เกิดหนี้เสีย ได้แก่ การจัดอันดับข้อมูลเครดิต ประเภทอุตสาหกรรม ประวัติการชำระเงิน ภาระหนี้ การจ้างงาน และการเลิกจ้าง รวมถึงข้อมูลทางภูมิศาสตร์ และข้อมูลอื่น ๆ ที่ชี้ถึงความเป็นไปได้ของบริษัทลูกค้าที่จะไม่ชำระหนี้ ด้วยข้อมูลเหล่านี้ระบบที่ใช้ AI สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระเงินสำหรับลูกค้าได้

การหาแหล่งรายได้ใหม่

  • ด้วยการส่งเสริมการขาย AI สามารถสร้างแบบจำลองพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งเสริมการขาย (promotion) แบบใหม่ เพื่อการส่งเสริมการขายแบบเรียลไทม์ เริ่มต้นจากข้อมูลการขายที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการขายในอดีต AI สามารถจำลองพฤติกรรมของผู้ซื้อด้วยการเพิ่มตัวแปรใหม่ เช่น ระเบียบข้อบังคับของรัฐเกี่ยวกับการกักตัวในบ้าน (shelter-in-place) การเปิดและปิดของร้านค้าปลีก โรงเรียน การรวมตัวทางการเมือง ความน่าจะเป็นของการระบาดโควิด-19 เป็นต้น และ AI ยังสามารถเก็บข้อมูลการส่งเสริมการขายที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่หนึ่งแล้วนำไปสร้างแบบจำลองที่คล้ายคลึงกันเพื่อแนะนำการส่งเสริมการขายที่เหมือนกันกับอีกพื้นที่หนึ่ง โดยใช้พื้นฐานจากการขายแบบเรียลไทม์ที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการขายที่ประสบความสำเร็จนั้น
  • ด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง เช่น ตลาดมันฝรั่งทอดกรอบ บริษัทจึงต้องพยายามชนะใจผู้บริโภคด้วยการเสนอทางเลือกที่หลากหลาย AI สามารถศึกษาคลังข้อมูลขนาดใหญ่และระบุรูปแบบของข้อมูลที่มนุษย์ไม่สามารถเห็นได้ โดยการศึกษาข้อมูลทางประชากร ความพึงพอใจของผู้บริโภค อายุ เชื้อชาติ เพศ รายได้ เป็นต้น และสิ่งที่ AI ค้นพบคือ ชนพื้นเมืองอเมริกันชอบอาหารรสแกงกะหรี่ ระบบ AI จึงแนะนำว่าบริษัทควรเสนอขายขนมรสที่มีขายเฉพาะในประเทศอินเดียคือ รสแกงกะหรี่ ที่เรียกว่า Kurkure ให้กับชนพื้นเมืองอเมริกันในเมืองฟริสโก รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรน้อยกว่าสองแสนคนโดยส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน จะเห็นได้ว่า AI สามารถค้นพบตลาดขนาดย่อย (Micro-market) และแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคในตลาดกลุ่มนั้น ดังนั้น คำถามที่บริษัทต้องการคือยังมีตลาดขนาดย่อยอีกกี่แห่งในตลาดของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทให้บริการ

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า AI มีความฉลาด และฉลาดมากขึ้นทุกวัน หากบริษัทของคุณพึ่งพามนุษย์ในงานที่ AI สามารถทำได้ดีกว่า ขณะที่บริษัทคู่แข่งพึ่งพา AI นั้น จะทำให้บริษัทของคุณไม่มีวันตามคู่แข่งได้ทัน ดังนั้น คุณต้องพัฒนาแผนการออกจากภาวะถดถอยนั้นด้วยการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน เพราะบริษัทที่ใช้ AI จะเป็นผู้ชนะและอีกหลายบริษัทที่ไม่ได้ใช้ AI จะกลายเป็นผู้แพ้ในเกมส์การแข่งขัน

แหล่งข้อมูล

https://riverplus.com/ai-help-your-business/