ภัยไซเบอร์-ฉ้อโกงออนไลน์ ปัญหาระดับท็อป ‘ชาวเน็ตไทย’

Share

Loading

กูเกิลและนีลเส็นไอคิวเปิดผลวิจัยข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมออนไลน์ พบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความเสี่ยงสำหรับชาวเน็ตทุกกลุ่ม วัยรุ่นมักกังวลเรื่องบัญชีโซเชียลมีเดีย-เกมถูกแฮก ส่วนผู้ใหญ่กังวลเรื่องการเงินจากกลโกงออนไลน์

“กูเกิล ประเทศไทย” ร่วมกับ “บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด” เผยผลการวิจัยพฤติกรรมออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในประเทศไทย โดยระบุว่า ความเสี่ยง 3 อันดับแรกที่ก่อให้เกิดความกังวลในระดับสูงและความยากลำบากในการจัดการได้แก่ การแฮกบัญชี ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และการฉ้อโกงออนไลน์

ขจรภพ เตชะสำราญ ผู้บริหารงานวิจัยอาวุโส บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วัยรุ่นไทยกังวลเกี่ยวกับการแฮกมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้งานโซเชียลมีเดียและเกมออนไลน์ที่สูงมาก

“สำหรับวัยรุ่นการสูญเสียการเข้าถึงบัญชีหรือการที่แฮกเกอร์นำบัญชีของพวกเขาไปใช้ในทางที่ผิดถือเป็นปัญหาใหญ่ ขณะที่สิ่งผู้ใหญ่กังวลมากที่สุดคือการสูญเสียทางการเงินจากกลโกงต่างๆ”

ที่ผ่านมา แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะพยายามจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างจริงจัง แต่การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลก็ยังคงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ด้านความเสี่ยงอื่นๆ ที่พบเช่น เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ข่าวปลอม แต่โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถจัดการได้ง่าย

หวั่นข่าวลวง-สื่อลามกอนาจาร

ข้อมูลระบุว่า กลุ่มผู้ใหญ่ห่วงใยคนอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กและวัยรุ่น ทั้งมีแนวโน้มที่จะอ่อนไหวต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนและการเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกและสับสนได้

นอกจากนี้ ผู้ปกครองรู้สึกกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับอิทธิพลของการกล้าแสดงออกผ่านทางออนไลน์ รวมไปถึงภาพลามกอนาจาร หัวข้อ LGBTQ และการมีส่วนร่วมของบุตรหลานในการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

สำหรับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต วัยรุ่นไทยใช้เวลาในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ไปกับการใช้งานโซเชียลมีเดีย เล่นเกม ชอปปิง ส่งข้อความ อ่านนิยายออนไลน์ ติดตามดาราไทยและศิลปินเคป๊อป ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ นิยมใช้อีคอมเมิร์ซอย่างมาก ขณะที่ผู้ใหญ่ในขอนแก่นและหาดใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค วัยรุ่นไทยจากหัวเมืองต่างๆ กล่าวว่า พวกเขาสามารถกำหนดเวลาออนไลน์ของตนได้ดี โดยสามารถแบ่งเวลาให้กับครอบครัว และยังหาเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ได้ด้วย

‘กลโกงออนไลน์’ น่ากังวลที่สุด

ด้านปัญหาหลักด้านดิจิทัล ผลการวิจัยออกมาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ คือ การแฮก การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล และกลโกงต่างๆ ที่ยังเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกกลุ่มในไทย

“กลโกงออนไลน์เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุดในประเทศไทย เราพบว่ามีการล่อลวงผ่านการมีปฏิสัมพันธ์และการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่วนข้อกังวลหลักๆ ในกลุ่มวัยรุ่น ได้แก่ การสูญเสียบัญชีโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวตนในโลกออนไลน์ รวมทั้งในด้านชื่อเสียง ผู้ใหญ่มีความกังวลมากขึ้นในเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการสูญเงินที่อาจเกิดขึ้นจากกลโกงต่างๆ”

เมื่อสำรวจถึงความเข้าใจเครื่องมือแอพพลิเคชั่น “YouTube Kids” และโหมด “ไม่ระบุตัวตน (Incognito mode)” เป็นเครื่องมือที่ถูกพูดถึงมากที่สุดใน

แต่ทั้งนี้ชาวเน็ตไทยยังมีปัญหาในการทำความเข้าใจเครื่องมือที่เป็นภาษาอังกฤษ ผู้ใหญ่ในประเทศไทยรู้สึกว่าการรายงานต่อเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นทางออกเดียว และกลุ่มผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ มีความรู้ความเข้าใจเครื่องมือต่างๆ มากกว่ากลุ่มที่อยู่ในขอนแก่นและหาดใหญ่

วางมาตรการเข้ม ‘พิทักษ์ข้อมูล’

จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและนโยบายสาธารณะ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 ผลักดันให้การใช้บริการบนดิจิทัลเติบโตมากขึ้น ผลวิจัยโดยกูเกิล เทมาเส็ก ระบุว่า ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้งานหน้าใหม่บริโภคสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 30% ข้อมูลโดยเอ็ตด้าระบุว่า เยาวชน นักเรียน นักศึกษาเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดเฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อวัน

สำหรับกูเกิล การทำงานเน้นใน 3 ส่วนหลักคือ การรักษาความปลอดภัยข้อมูลผู้ใช้งาน มีนโยบายที่ชัดเจนในการเก็บข้อมูลและดูแลข้อมูล ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานควบคุมการใช้และบริหารข้อมูลได้ด้วยตนเอง

กูเกิลใช้ข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวเป็นแนวทางในการรักษาความปลอดภัยในโลกออนไลน์ให้กับคนไทย มุ่งเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ใช้เวลาในโลกออนไลน์ค่อนข้างสูง และมีความสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของวัฒนธรรมออนไลน์

“แม้ว่ากูเกิลจะมีความก้าวหน้าในด้านผลิตภัณฑ์และมีเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ แต่เรายังมุ่งมั่นที่จะจัดฝึกอบรมทักษะดิจิทัลเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ ในโลกออนไลน์”

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/962310