เป็นที่ทราบกันดีว่าแผงโซลาร์เซลล์มีข้อดีหลายประการ พลังงานที่ผลิตได้นั้นปลอดมลภาวะและไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม การติดตั้งแบบที่เราคุ้นเคยอาจไม่สามารถทำได้เสมอไป ซึ่งทำให้ “ทางเท้าที่ให้พลังงานแสงอาทิตย์” หรือ “ทางเท้าโซลาร์เซลล์” นวัตกรรมรักษ์โลกของ PLATIO บริษัทจากกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ที่ใช้ขยะพลาสติกเป็นส่วนผสมในนวัตกรรมดังกล่าว กลายเป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ จะเพิ่มการผลิตพลังงานสีเขียวในสถานที่ที่ไม่สามารถติดตั้งแผงบนหลังคาหรือชั้นดาดฟ้าได้
จุดเริ่มต้นของแผงโซลาเซลล์แนวใหม่
แนวคิดเกี่ยวกับทางเท้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ PLATIO มาจากเพื่อนในวัยเด็ก 3 คน ได้แก่ Imre Sziszák วิศวกรเครื่องกล József Cseh วิศวกรเคมี และ Miklós Ilyés สถาปนิกภูมิทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Miklós มีส่วนร่วมในการออกแบบจัตุรัสและทางเท้าในเมืองหลายแห่ง และรู้สึกตกใจกับจำนวนวัสดุก่อสร้างที่เมืองใช้ในการสร้างทางเท้าสีเทาที่หมองคล้ำ ในขณะที่มนุษยชาติยังคงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับขยะพลาสติกที่ใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลาย แต่กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจึงมีคำถามที่ชวนหาคำตอบว่า “ทำไมไม่ทำพื้นปูทางเท้าจากขยะรีไซเคิล? และถ้ามีการปูพื้นผิวจำนวนมากในเมือง ทำไมเราไม่ใช้มัน และสร้างพลังงานไปในตัวด้วยเลยล่ะ”
ในปี 2558 นั้น PLATIO ยังเป็นเพียงแนวคิด แต่การพัฒนาก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ผู้ร่วมก่อตั้งได้ส่งแนวคิดของตนเข้าร่วมการแข่งขัน Smart City Lab ของ Design Terminal (หน่วยงานด้านนวัตกรรมชั้นนำของยุโรปกลาง) และประสบความสำเร็จ เมื่อ PLATIO เป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย และโดนใจนักลงทุนเอกชนที่ทุ่มเงินลงทุนในบริษัทนี้
“พวกเราฝันถึงอนาคตของโลกสีเขียวที่วัสดุรีไซเคิลและเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เป้าหมายของเราคือการจัดหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนสำหรับเมือง อาคาร บ้าน และท่าเรือ เพื่อปูทางไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราต้องการแทนทางเท้าแบบเดิมๆ ด้วยพื้นผิวที่สวยงามและมีประโยชน์ทั้งในพื้นที่เขตเมือง สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ในบ้าน”
Miklós Illyés หนึ่งในกลุ่มเพื่อนสนิทชาวฮังการี 3 คน ที่ร่วมกันคิดค้นไอเดียนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2558 บอกว่า “ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้ทำขึ้นเพื่อทดแทนแผงโซลาร์เซลล์แบบเดิมที่ติดตั้งบนหลังคา แต่เพื่อเป็นความพยายามเพิ่มเติมในการใช้พลังงานสะอาดในที่ที่ไม่มีแหล่งพลังงานอื่นๆ”
PLATIO Solar Paver คือชื่อเต็มๆ ของนวัตกรรมนี้ เป็นบล็อกปูพื้นที่ทำมาจากวัสดุคอมโพสิตพลาสติกรีไซเคิล (ไม่ใช้วัสดุพลาสติกบริสุทธิ์) และติดตั้งเซลล์สุริยะ หรือเซลล์แสงอาทิตย์ (PV-cells) ที่รวมเข้ากับกระจกนิรภัย ระบบไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ ทำงานโดยใช้แรงดันไฟฟ้า SELV (Safety Extra Low Voltage) และสายไฟถูกสร้างขึ้นด้วย IP68 (ขั้วต่อสายไฟกันน้ำ) เมื่อดวงอาทิตย์แผ่รังสีผ่านกระเบื้องแก้ว จะถูกส่งไปยังเซลล์สุริยะที่แปลงรังสีนี้เป็นไฟฟ้าต่อไป
PLATIO นำพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้นำมาใช้วิธีการอัดแบบพิเศษเพื่อสร้างโครงของแผงโซลาร์เซลล์นี้ โครงของผลิตภัณฑ์ทำจากขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ด้วยวิธีการอื่น และไม่มีการใช้วัสดุพลาสติกใหม่ในการผลิตแต่อย่างใด ซึ่งการใช้วัสดุและกระบวนการผลิตแบบพิเศษ ส่งผลให้โครงสร้างของเฟรมมีความทนทานสูง ทำให้มั่นใจได้ว่าการทำงาน และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จะปราศจากปัญหาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ
ข้อดีของวัสดุคอมโพสิตของโครง คือ มีคุณสมบัติความแข็งและอายุการใช้งานยาวนานกว่าคอนกรีต แม้ว่า High Performance Concrete (HPC) จะมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 50 ปี แต่วัสดุคอมโพสิตของ PLATIO Solar paver มีอายุการใช้งานยาวนาน 100 ปี ทั้งยังมีแรงดึงและแรงอัดที่สูงกว่ามาก และดูดซับน้ำได้น้อยกว่าคอนกรีตมาก
บริษัทนี้กล่าวว่า ใช้ขวดพลาสติกจำนวน 400 ขวด เพื่อสร้างทางเท้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 ตารางเมตร โดยระบุว่าส่วนผสมดังกล่าวทำให้นวัตกรรมพื้นผิวนี้มีความทนทานมากกว่าวัสดุอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างถนน และถึงแม้จะมีไว้สำหรับให้คนเดินไปมามากกว่าการสัญจรของยานพาหนะ แต่ทางเท้าชนิดพิเศษที่ผลิตพลังงานได้นี้ก็สามารถ รับน้ำหนักได้อย่างง่ายดาย แม้กระทั่งรถบรรทุกที่ขนสัมภาระหนัก
“จากการที่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้รับการปกป้องด้วยแผงกระจกที่ทนทาน กันลื่น กันขีดข่วน และกันกระแทกได้ จึงมีความสามารถในการรับน้ำหนักตัวของผู้คนที่เดินหรือเหยียบย่ำไปมาบนพื้นผิวแผงโซลาร์เซลล์ชนิดพิเศษนี้ได้สบายๆ”
ทั้งนี้แผงโซลาร์เซลล์หนึ่งหน่วยของ PLATIO ให้พลังงานประมาณ 20 วัตต์ และพื้นผิวราว 20-30 ตารางเมตร สามารถให้พลังงานเพียงพอสำหรับบ้านในสภาพอากาศแบบฮังการี ซึ่งมีฤดูหนาวที่ชื้น และมีฤดูร้อนที่อบอุ่น (อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาว 0 ถึง -15 องศาเซลเซียส และฤดูร้อน 27-35 องศาเซลเซียส)
นอกจากข้อได้เปรียบทางเทคนิค เช่น ความสามารถในการขึ้นรูปและความทนทานที่สูงกว่าคอนกรีตแล้ว PLATIO ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย เพราะกระบวนการผลิตซีเมนต์ทุกๆ หนึ่งตัน จะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณหนึ่งตัน ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นประมาณ 7% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก ขณะที่ PLATIO ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น
สำหรับการติดตั้ง PLATIO จะแนะนำเป็นพิเศษในสถานที่ซึ่งไม่สามารถใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แบบเดิมได้ ตัวอย่างเช่น บริเวณที่มีลมแรง (พายุทอร์นาโด) ในเขตป้องกันภูมิทัศน์ และรอบๆ อาคารไม้หรืออาคารที่มีหลังคาน้ำหนักเบา นอกจากสถานที่แปลกใหม่แล้ว PLATIO ยังสามารถติดตั้งได้ในสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่สำนักงานและอาคารที่อยู่อาศัย ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ และเมืองอัจฉริยะ PLATIO เป็นตัวแทนของแหล่งพลังงานสีเขียวที่สวยงาม ประหยัดพื้นที่ และสวยงาม
ปัจจุบันรีไซเคิลพลาสติกไปแล้ว 32 ตัน ติดตั้งทางเท้าโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 2,500 ตารางเมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าไปแล้ว 44,000 กิโลวัตต์ และมีตัวแทนจำหน่ายใน 37 ประเทศ
ทำไม PLATIO ถึงเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกที่น่าจับตา
โซลูชั่นที่ประหยัดพื้นที่ เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมอย่างกลมกลืน โดยไม่ต้องใช้พื้นที่อันมีค่าอื่นๆ เพิ่มเติม
วัสดุรีไซเคิล ปูทางไปสู่สภาพแวดล้อมในเมืองที่ยั่งยืนมากขึ้น ตลอดจนอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยเจตนารมณ์ของการลดขยะ เครื่องปูผิวทางที่มาในรูปแบบของแผงโซลาร์เซลล์นี้จึงทำมาจากพลาสติกและแก้วรีไซเคิล รวมถึงวัสดุเหลือใช้อื่นๆ
ออกแบบตามหลักการรักษ์โลกและมีดีไซน์สวยงาม เครื่องปูผิวทางด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นี้ สนับสนุนเมือง อาคาร และบ้านเรือนให้กลายเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21
บำรุงรักษาง่าย นอกจากจะใช้งานง่ายแล้วยังต้องการการบำรุงรักษาที่คล้ายกับทางเท้าทั่วไป และดูแลรักษาง่ายกว่าแผงโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนหลังคาแบบเดิมๆ
ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว ด้วยการออกแบบโมดูลาร์ การติดตั้งจึงรวดเร็วและง่ายดายเหมือนกับการปูกระเบื้องแบบเดิม
ความทนทาน ด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระดับมืออาชีพทำให้มั่นใจได้ว่ามีความทนทานสูงต่อการบรรทุก การกระแทก รอยขีดข่วน สภาพอากาศ แต่ไม่เหมาะสำหรับถนน เพราะนอกจากจะเหมาะกับทางเท้าแล้ว ยังเหมาะสำหรับสวนสาธารณะ สวนบนดาดฟ้า หรือสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ความปลอดภัย ปลอดภัยด้วยแรงดันไฟต่ำ และมีระดับการต้านทานการลื่นสูงสุดที่เป็นไปได้
ประสิทธิภาพ ก่อเกิดพลังงานสีเขียวที่นำไปใช้ได้จริง จากแผงโซลาร์เซลล์กำลังสูงที่ติดตั้งบนทางเท้า โดยรังสีดวงอาทิตย์จะแผ่รังสีผ่านกระเบื้องแก้วและไปถึงเซลล์สุริยะที่แปลงรังสีเป็นไฟฟ้า และเมื่อพื้นผิวปนเปื้อนด้วยสารมลพิษที่เกิดขึ้นตามปกติ (เช่น ฝุ่น) การสูญเสียประสิทธิภาพจะอยู่ที่ประมาณ 3-7% เท่านั้น
เศรษฐกิจหมุนเวียน PLATIO นี้ได้รับการออกแบบให้รีไซเคิลได้ 95% เมื่อสิ้นสุดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า PLATIO เป็นนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างที่ให้พลังงานแสงอาทิตย์และรักษ์โลกแบบคูณสอง เพราะซึ่งไม่เพียงแต่ผลิตพลังงานสะอาด แต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติกรีไซเคิล
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/09/15/platio-solar-cell-pavement-plastic-reclycling/