เมื่อเร็วๆ นี้ Zipmex แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ประกาศการระดมทุน Series B ผลปรากฏว่าการระดมทุนในรอบนี้มีมูลค่า 41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเป็นเงินมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท) ทำให้ Zipmex มีมูลค่าหลักหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำลังมุ่งไปสู่การเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลักพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไม่ช้านี้ เป็นสัญญาณตอกย้ำว่าสินทรัพย์ดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทรวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคนไทยมากขึ้น
สินทรัพย์ดิจิทัลเทรนด์ใหม่มาแรง
นอกจาก Zipmex จะเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังดึงดูดคนให้เข้าสู่แพลตฟอร์มด้วยการอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกซื้อรถยนต์ ศิลปะ หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้ประกาศผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด Zipmex Card ซึ่งเป็นบัตรชำระเงินรูปแบบใหม่ที่จะเปิดตัวในปลายปีนี้ โดยได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Visa เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีอิสระในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลกับร้านค้ากว่า 70 ล้านราย ผ่านทางเครือข่ายการชำระเงินทั่วโลกของ Visa ที่มีความรวดเร็ว เชื่อถือได้ และปลอดภัย
อสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่นำสินทรัพย์ดิจิทัล (Cryptocurrency) มาใช้เป็นทรัพย์สินในการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม รวมถึงการจ่ายค่าส่วนกลางได้ โดยลูกค้าสามารถใช้เหรียญคริปโตฯ ชำระแทนเงินสดกับโครงการ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในแง่ของการจ่ายเงิน เป็นการปรับตัวสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นอีกก้าวของการเติบโตในการสร้างรายได้เพิ่มและพลิกการเปลี่ยนแปลงของโลกบริการทางการเงินดิจิทัล หรือ Digital Financial Service โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสนใจในตลาดคริปโตฯ
จากสินทรัพย์ดิจิทัลสู่เงินดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมาย การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่างๆ มีลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยน (barter trade) ระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับสินค้าและบริการที่ผู้ให้และผู้รับตกลงยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน แต่ความนิยมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นก็นำไปสู่การพัฒนาเงินดิจิทัล ซึ่งธนาคารแห่งชาติทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ (Central Bank Digital Currencies “CBDC”) เพื่อการชำระในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ยอมรับว่าสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ของแต่ละประเทศ สามารถลดเวลาในการชำระหนี้ข้ามพรมแดนลงเหลือไม่กี่วินาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายวัน
สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมทดสอบการใช้งานจริง (Pilot Test) ของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับรายย่อย (Retail CBDC) พร้อมกับเปิดให้ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเข้ามาพัฒนาเชื่อมต่อระบบไปพร้อมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 2 ปี 2565 แต่จะทดลองใช้ในวงจำกัดภายใน ธปท. ก่อนที่จะขยายไปยังประชาชนทั่วไป ร้านค้าขนาดใหญ่และขยาดย่อมมีธุรกรรมการใช้จ่ายของประชาชนรายย่อยที่สูง รวมถึงผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นธนาคารและสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (นอนแบงก์)
โดยผลการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน พบว่า ในภาคการเงินไทย ต้องการให้พัฒนา Retail CBDC ที่เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย โดยมีรูปแบบคล้ายเงินสดและอาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน โดยมีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมากๆ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ e-money ได้บางส่วนในระยะต่อไป
ขณะที่ผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ของ ธปท. และมองว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและการแข่งขันในอนาคต นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวทางการออกแบบ Retail CBDC ข้างต้นเพื่อจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อภาคการเงินไทย
เตือนระวังแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวง
ด้วยกระแสเงินดิจิทัลที่มาแรง ทำให้มีมิจฉาชีพบางกลุ่มเริ่มสอดแทรกเข้าในวงการนี้ ด้วยการหลอกโอนเงินแลกเปลี่ยนเป็นสกุลดิจิทัล แอบอ้างว่าจะมีการใช้สกุลเงินดิจิทัลใหม่ทั่วโลก รวมทั้งจะมีการยกหนี้ในระบบสถาบันการเงินและแลกเปลี่ยนเงินฝากในระบบสถาบันการเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล จนกระทรวงการคลังต้องออกมาชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังอย่าโอนเงิน หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้กับบุคคลที่มีการแอบอ้างในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งอย่าส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลต่างๆ ที่มิได้ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยเงินตรากำหนดให้เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย มีเพียงเหรียญกษาปณ์ที่ออกโดยกระทรวงการคลังและธนบัตรที่ออกโดย ธปท. เท่านั้น ยังไม่มีเงินดิจิทัลตามที่มีการแอบอ้าง
เพราะเงินดิจิทัลจะถูกนำมาออกมาใช้เร็วสุดคือไตรมาส 2 ปี 2565 และเป็นการทดลองใช้ในวงจำกัดก่อนเบื้องต้น
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/09/28/cryptocurrency-digital-assets/