เช็คลิสต์ ประเทศไทยพร้อมโกออนกับ สังคมไร้เงินสด เต็มขั้นหรือยัง?

Share

Loading

ตั้งแต่มี ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) และธนาคารต่างๆ เปิดให้บริการแอปพลิเคชันต่างๆเพื่อชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ สังคมไทยก็ขยับเข้าใกล้ ‘สังคมไร้เงินสด’ หรือ Cashless Society มากขึ้น ทว่า แท้จริงแล้ว ประเทศไทย พร้อมหรือยัง สำหรับ สังคมไร้เงินสด? และจะทำอย่างไรให้การใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสนี้เป็นประโยชน์และปลอดภัยมากที่สุด? เป็นสิ่งที่ต้องมาหาคำตอบกัน

ยิ่งเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้บริโภคในประเทศไทยมีแนวโน้มและชื่นชอบการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดเพิ่มขึ้น แต่การระบาดเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้จ่ายแบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเพียงในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ (2021) ผลสำรวจวิธีการชำระเงินแบบใหม่ของมาสเตอร์การ์ด (Mastercard New Payments Index) พบว่า

  • มีการใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสมากกว่า 1 พันล้านครั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020
  • เแนวโน้มที่คล้ายคลึงกันระหว่างอินเดียและประเทศไทยซึ่งการใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในอินเดียและ 4 เท่าในประเทศไทยในช่วงเดียวกันของปี 1
  • 3 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้การจ่ายเงินแบบไร้สัมผัสมากขึ้น โดยเฉพาะใช้ในการซื้อหาอาหารและของใช้ประจำวัน

ย้อนเวลา ส่องพัฒนาการ สังคมไร้เงินสด ในประเทศไทย

จากบทสัมภาษณ์ของ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการ กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ได้ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์และมุมมองต่อแวดวงการเงินซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของ สังคมไร้เงินสด ในประเทศไทยว่า

“สำหรับประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มของการเป็น Cashless Society อย่างเห็นได้ชัดมานานแล้ว โดยไทยมีกฎหมายธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นประเทศแรกๆในแถบอาเซียน และมีการนำแม่บทกฎหมาย e-Commerce Law ของสหประชาชาติมาปรับใช้และร่างเป็นกฎหมายของประเทศไทย ชื่อว่า พรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544”

“โดยกฎหมายนี้รองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกรรมใดๆทางออนไลน์ ตลอดจนข้อความยืนยันการซื้อขายทางอีเมล ไลน์ หรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ นั้น ให้สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ทางกฎหมายได้”

“แต่ถ้าย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยยังถือว่ามีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างน้อย ด้วยอินเทอร์เน็ตที่เริ่มเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2538 ในช่วงเวลานั้นความเร็วของระบบยังรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตได้ไม่มากนัก รวมถึงเรื่องของความปลอดภัยยังน้อยอยู่”

“การใช้อินเทอร์เน็ตในสมัยนั้นจึงเป็นเรื่องของ Lifestyle เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ 2 หลักต่อปี เนื่องมาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Internet) ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยพื้นฐานของบ้านเรา”

“บวกกับพฤติกรรมการใช้โซเซียลมีเดีย (Social Media) ของคนไทยมีผลต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่วัยรุ่นอีกต่อไป แต่ยังขยายไปถึงกลุ่มผู้ใหญ่ (Baby Boomer) ที่เข้ามาใช้งานในโลกโซเซียลมากขึ้นด้วย และนั่นย่อมหมายถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน”

“ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ประการแรก คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และสองคือ การขยายตัวทางการลงทุนในธุรกิจ e-Commerce ในประเทศไทย จากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งพบว่าคนไทยในช่วง Gen X จะมีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์สูงสุด โดยมีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการทำธุรกิจและธุรกรรมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่”

“ขณะที่กลุ่ม Baby Boomer นั้นพบว่ามีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการซื้อตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พักต่างๆ สำหรับการเดินทางและท่องเที่ยว”

การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว เข้าสู่ Cashless Society เต็มขั้นของไทย

ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเป็นตัวแปรเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างสิ้นเชิง ขับเคลื่อนให้วงการการเงินที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากในรูปแบบการใช้เงินกระดาษไปสู่เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นซึ่งเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้มีการคากการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค Cashless Society หรือยุคสังคมไร้เงินสด ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2563 ซึ่งก็เกิดขึ้นเช่นนั้นจริง

และสำหรับประเทศที่มีนโยบาย Cashless Society อย่างเต็มตัว เช่น ประเทศสวีเดน ที่เป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ได้ประกาศเลิกใช้เงินสดทั้งประเทศ และหันไปใช้ระบบการเงินแบบดิจิทัลเข้ามาทดแทนเป็น Cashless Society อย่างเต็มตัว ก็ถือเป็นตัวอย่างของ Cashless Society ได้เป็นอย่างดี

การปรับตัวของสถาบันการเงินและ e-Commerce

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในยุคไร้พรมแดนที่ผู้บริโภคสามารถซื้อ-ขายสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ

ปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการ เริ่มเข้ามาในตลาดออนไลน์มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในรูปแบบของ Internet banking, การโอนเงินผ่านระบบบาทเนต (สำหรับการโอนเงินครั้งละมากๆ), การใช้บัตรแทนเงินสด ตลอดจนการให้บริการในรูปแบบของ e-Money โดยเฉพาะ e-Money

นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับธุรกรรมออนไลน์และ e-Commerce เลยก็ว่าได้ โดยเราพบว่า e-Money เพราะมีการเติบโตรวดเร็วมาก โดยเติบโตเฉลี่ย 2 ดิจิตต่อปีต่อเนื่องมาตลอด

พร้อมเพย์ จุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ สังคมไร้เงินสด ของไทย

ในบทสัมภาษณ์ ดร.รัฐศาสตร์ ยังกล่าวถึง “พร้อมเพย์ จุดเริ่มต้นที่มาปลดล็อคประเทศไทยสู่การเป็น Cashless Society ไว้ด้วยว่า สำหรับประเทศไทย ในหลายภาคส่วนมีความพยายามส่งเสริมและสนับสนุนการเป็น Cashless Society มาเป็นระยะเวลานานแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น e-Payment จากค่ายโทรศัพท์มือถือ หรือ e-Payment ที่มาในรูปแบบของบัตรโดยสาร และสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ล่าสุดอีกสิ่งหนึ่งก็คือ การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการดำเนินการภายในระยะเวลาอันสั้น และยังเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะมารองรับการเป็น Cashless Society ของประเทศไทยในอนาคต

โครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นหนึ่งในแผนแม่บท National e-Payment ของชาติ เพื่อผลักดันประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไร้เงินสด (Cashless Society) โดยระบบพร้อมเพย์ เริ่มเปิดใช้งานมาระยะหนึ่ง และที่ผ่านมา “พร้อมเพย์” นี้เข้ามาช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการโอนให้ถูกลง พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจึงสามารถรองรับการเติบโตของ e-Commerce ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้แผนแม่บท National e-Payment ของภาครัฐนั้น ยังมีในเรื่องของการขยายเครื่องรับชำระบัตร การพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีและใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจ่ายเงินของภาครัฐให้เป็นรูปแบบ e-Payment ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป

โดย การดำเนินงานนี้ มี สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (Electronic Transactions Development Agency (Public Organization)) หรือ ETDA เป็นหน่วยงานที่พัฒนาและส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ทั้งในด้านการวางมาตรฐานข้อมูลและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย เพื่อรองรับและสนับสนุนกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆในประเทศ

ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในการใช้ e-Commerce มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับประเทศไทยในการปรับตัวเข้าสู่ยุค Cashless Society ในอนาคตนั่นเอง

ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หัวใจสำคัญของ Cashless Society

แม้หลายคน จะบอกตรงกันว่าโลกนี้ไม่มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดได้ เพราะสำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่าออฟไลน์ เนื่องจากการถือเงินสดนั้นมีความเสี่ยงค่อนข้างมากด้านความปลอดภัย ในขณะที่การทำธุรกรรมออนไลน์จะมี protocol รองรับมากมาย เพื่อยืนยันการทำธุรกรรมนั้นๆ ซึ่งมีการใช้กันมานานและพัฒนาระบบเพื่อลดช่องว่างและเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า ผู้ใช้มีความเข้าใจในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เช่น การตั้งรหัสควรตั้งให้มีความยากในการคาดเดาเพื่อป้องกันการโจรกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบายลดการใช้รหัสผ่าน โดยจะใช้รูปแบบการยืนยันตัวตนอย่างอื่นแทน เช่น การใช้ลายนิ้วมือ ตา เสียง เฉพาะของบุคคล หรือการใช้ OTP (One Time Password) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้

ฮาวทูติดปีกให้อีคอมเมิร์ชไทย ทะยานสู่โลกไร้เงินสดเต็มขั้น

มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจมองว่าเรื่อง Cashless Society เป็นเรื่องของกระแส แต่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงและเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น เพราะแม้แต่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและ EU ต่างก็เร่งผลักดันให้หลายประเทศทั่วโลกนำระบบ Cashless Society เข้ามาใช้ เพื่อปรับลดปัญหาการฟอกเงินและการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยต่างๆ

อีกประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นของการเสียโอกาสทางธุรกิจหากเราไม่ปรับตัว เนื่องจากอัตราการแข่งขันทางธุรกิจในโลกออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น การทำธุรกรรมออนไลน์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ให้บริการ e-Commerce ควรปรับตัวให้ทันและมีการรองรับให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มและป้องกันการเสียโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย

มากไปกว่านั้นในเรื่องของการใช้ทรัพยากรนั้น Cashless Society จะสามารถช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก เช่น ต้นทุนการผลิตธนบัตร เงินเหรียญต่างๆ ตลอดจนต้นทุนกระดาษเอกสารต่างๆ และยังเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตต่อไป

สำหรับภาคธุรกิจต่างๆ ก็ขานรับกระแส Cashless Society กันถ้วนหน้าเช่นกัน โดยหนึ่งใน Case study ที่หยิบเอาเทรนด์นี้มาขยายผล กระตุ้นให้เกิดวิถีการจับจ่ายอย่างปลอดภัยในยุคโควิดนี้อย่างได้ผล คือ แคมเปญ #ล้มแต่ไม่ล้มเลิก Let’s Tap & Go ของ มาสเตอร์การ์ด ที่มอบประสบการณ์การใช้จ่ายที่สะดวกและรวดเร็วกว่า ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิง ชิมของอร่อย หรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

โดยสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกคนอุ่นใจด้วยระบบการรักษาความปลอดภัย ไร้การสัมผัส ในแบบ Tap & Go พร้อมสนุกกับโปรเจกต์ Tiktok #Challenge ด้วยการร่วมแชร์ประสบการณ์ผ่านทาง #Challenge และลุ้นรับส่วนลด รางวัลพิเศษมากมายจากโปรโมชั้นพิเศษ ที่มีพันธมิตรเป็นแบรนด์ชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น Watson, Burger King, Koi The และ Mega Bangna

และแคมเปญนี้ ไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมา ของมาสเตอร์การ์ด มีความมั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นธุรกิจที่ซบเซาอยู่ให้พลิกฟื้นตามกระแส สังคมไร้เงินสด ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ในช่วงนี้ รวมถึงทำให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถใช้ชีวิตและมีอิสรภาพในการจับจ่ายได้แบบมั่นใจยิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/21/check-list-thailand-ready-for-cashless-society-or-not/