นักวิทยาศาสตร์ในอินโดนีเซียทำการดัดแปลงหุ่นยนต์ที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาเล่นๆ ให้มาทำหน้าที่ใหม่ เพื่อบริการประชาชนในช่วงที่วิกฤตโคโรนาไวรัสยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรงอยู่นี้
หุ่นยนต์ประดิษฐ์พื้นบ้านของอินโดนีเซียตัวนี้ ไม่ได้มีความก้าวล้ำนำสมัย หรือประกอบด้วยวัสดุชั้นยอดเหมือนของญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นใด เพราะหุ่นตัวนี้ถูกประกอบขึ้นจากของใช้ในครัวเรือนธรรมดาๆ เช่น หม้อ กระทะ และเครื่องรับโทรทัศน์เก่าๆ แต่ปัจจุบัน หุ่นยนต์ที่มีต้นกำเนิดเพียงเพื่อความสนุกนี้ กลับมีหน้าที่สำคัญในการนำส่งอาหารไปให้ผู้ป่วยโควิด-19 ในอินโดนีเซีย ที่ต้องยิ้มทุกครั้ง ที่ได้รับบริการจากหุ่นที่เพิ่งได้รับชื่อใหม่ว่า “หุ่นเดลตา” ตามชื่อไวรัสกลายพันธุ์ที่กำลังระบาดหนักไปทั่วโลกในขณะนี้
อาเซยานโต ผู้นำชุมชนที่เป็นหัวเรือในโครงการ “หุ่นเดลตา” นี้ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนตัดสินใจดัดแปลงให้หุ่นกระป๋องธรรมดาๆ กลายมาเป็นผู้รับหน้าที่ให้บริการสาธารณะ เช่น ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ นำส่งอาหาร และช่วยเหลือประชาชนที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสและต้องแยกออกมากักตัวเฝ้าระวังอาการ
หุ่นยนต์ที่ทำงานโดยการบังคับทางไกลด้วยรีโมทคอนโทรลนี้ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาหลายตัวเพื่อช่วยงานในหมู่บ้าน เทมบ็อก เกเด ซึ่งอยู่ในเขตนครซูราบายา เมืองหลวงของจังหวัดชวาตะวันออก ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักไปทั่ว เพราะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่
หน้าที่ของหุ่นเดลตานั้น ก็คือ การเดินทางไปตามถนนในหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมชาวบ้านที่ต้องแยกตัวออกมาเฝ้าระวังอาการ โดยเมื่อเดินทางถึงบ้านที่กำหนดแล้ว ลำโพงของหุ่นจะส่งเสียงอวยพรว่า “Peace be with you” หรือ ขอให้สันติบังเกิดกับคุณ และการแจ้งว่า “มีของนำมาส่ง” และ “ขอให้หายไวๆ” เมื่อผู้รับได้รับของแล้ว
ในเวลานี้ อินโดนีเซีย ยังถือเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 อยู่ โดยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมแล้วกว่า 3.68 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่น้อยกว่า 108,000 คน
แหล่งข้อมูล