เกาะติดสถานการณ์ “พลังงานนิวเคลียร์” ในปัจจุบัน จีนมาแรงที่สุดในโลก

Share

Loading

ตามการรายงานสถานะอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลก ประจำปี 2564 ระบุว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่วโลกลดลง 3.9% ในปี 2563 โดยในปี 2564 มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสิ้น 415 เครื่อง ที่เปิดใช้งานทั่วโลก ซึ่งน้อยกว่าในปี 2554 ถึง 22 เครื่อง นั่นเป็นเพราะถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับว่าพลังงานนิวเคลียร์มีความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้คนหลายล้านคน แต่มักเผชิญกับการต่อต้านจากผู้คนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อกังวลด้านความปลอดภัย

กระนั้นในบางประเทศ เช่น ในจีนกลับมีจำนวนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มขึ้น 4.4% แม้จะเป็นอัตราการเติบโตประจำปีที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 แต่จีนก็แซงหน้าฝรั่งเศสในฐานะประเทศที่เป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียน และทัศนคติเชิงลบของสาธารณชนต่อพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดจากภัยพิบัติครั้งใหญ่ เช่น เชอร์โนบิลหรือฟุกุชิมะ ทำให้แม้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะเป็นแหล่งผลิตพลังงานระดับโลก แต่พลังงานนิวเคลียร์กลับกำลังลดลงอย่างช้าๆ จากส่วนแบ่งสูงสุดของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก 17.5% ในปี 2539 กลับเหลือเพียง 10.1% ในปี 2563 เนื่องจากมีหลายประเทศระงับหรือละทิ้งกลยุทธ์ด้านพลังงานนิวเคลียร์มากกว่าการลงทุนเพื่อขยายกิจการ

จีนมาแรงในด้านพลังงานนิวเคลียร์ ในรอบ 10 ปี ลงทุนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มขึ้นถึง 39 เครื่อง

จากรายงานนี้ระบุอีกว่า ปัจจุบันมี 33 ประเทศ ใช้เครื่องปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ แต่มีเพียง 14 ประเทศเท่านั้น ที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างแข็งขัน ซึ่งรวมถึงหน้าใหม่ที่เพิ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในปี 2563 อย่างเบลารุสและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ สถานการณ์พลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติเชอร์โนบิล และแม้กระทั่งในช่วง 10 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่ภัยพิบัติฟุกุชิมะไดอิจิเริ่มต้นขึ้น โครงการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่มีอยู่ไม่มากนักและอยู่ห่างไกลกัน แม้แต่ในฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาที่เป็น 2 อันดับแรกที่ครอบครองเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากที่สุดในโลก

ในขณะที่จำนวนเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้งานได้ทั่วโลกมีจำนวนลดลง แต่ในทางกลับกัน บางประเทศ โดยเฉพาะจีน กำลังผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่อย่างแข็งขัน อย่างไรก็ตาม หลังเกิดอุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างยังคงมีจำกัด ซึ่งนั่นก็กลายเป็นอุปสรรคที่ลดทอนศักยภาพของอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์โดยปริยาย

โครงการพลังงานนิวเคลียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่อายุน้อยที่สุดเช่นกัน โดยจีนได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 (ช่วงปี 2533) และปัจจุบันมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 52 เครื่อง มากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมากถึง 39 เครื่อง ถูกสร้างขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

แรงผลักดันของพลังงานนิวเคลียร์ในจีนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยนโยบายของจีนคือการเป็นผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบและการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อก้าวไปสู่ผู้นำระดับโลกด้วยการส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์รวมถึงชิ้นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานนี้

ตัวอย่างประเทศที่ปิดประตูให้กับพลังงานนิวเคลียร์ คือ ไต้หวัน เพราะล่าสุดได้ปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกเครื่องปิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และอีก 3 เครื่องที่เหลือจะปิดภายในปี 2568 จากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 ที่ทำให้ไช่อิงเหวิน ครองตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้นโยบายการเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ของไต้หวันจึงยังคงดำเนินต่อไป โดยส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าของนิวเคลียร์ของเกาะแห่งนี้ลดลงจาก 41% ในปี 2531 เป็น 13% ในปี 2563

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกายังคงเป็นฐานที่มั่นพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของโลก หากพิจารณาในแง่ของจำนวนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ประเทศที่มีจำนวนรองลงมาคือฝรั่งเศสและจีน ส่วนอันดับ 4-10 ได้แก่ รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย แคนาดา ยูเครน สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น

โดยสหรัฐอเมริกามีเครื่องปฏิกรณ์ปฏิบัติการ 93 เครื่อง ณ เดือนกรกฎาคม 2564 ลดลง 11 แห่ง ตั้งแต่ปี 2554 และถึงแม้จะมีจำนวนลดลง แต่โครงการพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกากลับถูกระบุว่าไม่น่าไว้วางใจ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นซึ่งนับตั้งแต่มีการสูญเสียครั้งใหญ่ ก็ลดจำนวนลงถึง 39 เครื่อง ตั้งแต่ปี 2554 กระทั่งปัจจุบันมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ทำงานอยู่เพียง 9 เครื่อง เท่านั้น และคาดว่าญี่ปุ่นจะยกเลิกการก่อสร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ใหม่อย่างเป็นทางการในไม่ช้า

ญี่ปุ่นกำลังมองหาวิธีลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะลดการใช้งานพลังงานนิวเคลียร์ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถูกโน้มน้าวว่าความต้องการพลังงานของญี่ปุ่นนั้น สามารถตอบสนองได้อย่างเต็มที่โดยแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยไม่จำเป็นต้องลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์แต่อย่างใด

นับถึงวันนี้ มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ที่เคยมีโครงการพลังงานนิวเคลียร์ แต่ได้ปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดไปนานแล้ว ได้แก่ อิตาลีในปี 2530 คาซัคสถานในปี 2541 และลิทัวเนียในปี 2552

ทั้งนี้ เครื่่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยพิจารณาจากกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ Taishan ในประเทศจีน โดยมีกำลังการผลิตรวม 1,750 เมกะวัตต์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของเครื่องปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ชั้นนำตั้งอยู่ในฝรั่งเศส (Civaux และ Chooz) มีกำลังการผลิตรวม 1,561 และ 1,560 เมกะวัตต์ ตามลำดับ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/10/05/nuclear-power-trend-china-and-global/