การชำระเงินทางดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคนี้ไปแล้ว โดยการชำระเงินแบบเรียลไทม์ (การโอนเงินจากบัญชีธนาคารหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่งโดยทันที) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
จากข้อมูลจาก ACI Worldwide และ Global Data เปิดตัว “Prime-Time for Real Time” ปี 2564 ซึ่งเป็นรายงานระดับโลกที่ติดตามและวิเคราะห์ปริมาณการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ตลอดจนการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงใน 48 ตลาดทั่วโลก พบว่า 9.8% ของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกได้ดำเนินการไปแล้วแบบเรียลไทม์ในปี 2563 ธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 41% ในปีที่ผ่านมา โดยมีธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์มากกว่า 70.3 พันล้านรายการได้รับการประมวลผลทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้แนวโน้มของเงินสดและเช็คลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสถานการณ์วิกฤตจากโรคระบาดใหญ่นี้จึงเป็นปัจจัยที่เร่งการเปลี่ยนผ่านการชำระเงินแบบดั้งเดิมไปสู่การชำระเงินแบบดิจิทัล
ประเทศไหนบ้างเป็นผู้นำในการชำระเงินแบบเรียลไทม์
ส่วนแบ่งธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกแบบเรียลไทม์ในปี 2563 อยู่ที่ 9.8% เพิ่มขึ้นจาก 7.6% ในปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 17.4% ภายในปี 2568 ส่วนมูลค่าของธุรกรรมแบบเรียลไทม์เพิ่มขึ้น 32.8% จากปี 2562
“อินเดีย” เป็นประเทศที่มีมูลค่าการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์สูงสุดที่ 25.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือ “จีน” ที่มีมูลค่าดังกล่าวอยู่ที่ 15.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วย “เกาหลีใต้” ด้วยมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วน “ไทย” รั้งอันดับ 4 ด้วยมูลค่า 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เอาชนะ “สหราชอาณาจักร” (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่ครองอันดับ 5 ในการชำระเงินแบบเรียลไทม์ และนำหน้า “ไนจีเรีย” ที่ตามมาเป็นอันดับ 6 (1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่อันดับ 7-10 ได้แก่ ญี่ปุ่น (1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) บราซิล (1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สหรัฐอเมริกา (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และเม็กซิโก (942 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่วนโครเอเชีย โคลอมเบีย มาเลเซีย เปรู และฟินแลนด์ ติด 5 อันดับประเทศที่มีอัตราการเติบโตต่อปีสูงสุดในปี 2563 ขณะที่ภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงสุด (CAGR 2563-2568 คาดว่าจะเป็นอเมริกาเหนือ ด้วยอัตราการเติบโต 36.5% เนื่องจากทั้งแคนาดาและสหรัฐอเมริกาปรับปรุงและขับเคลื่อนระบบการชำระเงินแบบเรียลไทม์ใหม่ (RTR และ FedNow)
ขณะที่ผลสำรวจจาก Digital 2021 Global Overview Report ระบุว่าการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ในภาพรวม ของคนไทยครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก โดยปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 70% เมื่อเทียบกับปี 2562
ตามตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย “พร้อมเพย์” มีผู้ใช้พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนแล้ว 55.2 ล้านคน ณ เดือนกรกฎาคม 2563 ด้วยจำนวนประชากรของประเทศไทยเพียง 69 ล้านคน นับเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ และนับว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนอย่างรวดเร็ว และส่วนหนึ่งเป็นเพราะพร้อมเพย์สามารถชำระเงินได้ด้วยการสแกน QR code หรือ Thai QR Payment หนึ่งในนวัตกรรมที่ผลักดันระบบการชำระเงินไทยให้เป็นที่รู้จักและน่าจับตาในเวทีโลก ซึ่งการชำระเงินของไทยพัฒนาจนถึงจุดนี้ได้ เกิดจากพัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานและบริการชำระเงินดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพร้อมเพย์ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สำคัญที่สุดระบบหนึ่ง และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การโอนและชำระเงินดิจิทัลเป็นเรื่องง่ายที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายขึ้นหลายเท่าตัวจากประชาชนแทบทุกหมู่เหล่า
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินดิจิทัลที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว สามารถรับมือได้ดีกว่าประเทศที่ไม่มีการควบคุมผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ เพราะการชำระเงินแบบเรียลไทม์ช่วยให้รัฐบาลสามารถทำงานร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อเร่งการเบิกจ่ายที่จำเป็นและการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับพลเมืองของตน ขณะเดียวกันยังจัดสรรสภาพคล่องแบบเรียลไทม์ให้กับธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับซัพพลายเชนที่หยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าประเทศผู้นำระดับโลกด้านการชำระเงินแบบเรียลไทม์ มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาปะปนกัน นั่นหมายความว่าประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่พัฒนาน้อยกว่า สามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ได้พัฒนาโซลูชันการชำระเงินของตนเองให้นวัตกรรมมากขึ้น เช่น แถบเอเชียใต้และแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราซึ่งเป็นภูมิภาคที่นวัตกรรมการชำระเงินอื่น อย่างเช่น Mobile Money (การใช้บัญชีโทรศัพท์มือถือแทนบัญชีธนาคาร เพื่อชำระสินค้าและบริการ) มีการเติบโตมากที่สุด
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/10/03/realtime-payment-thailand-among-top-of-the-world/