ทนายความคนต่อไปของคุณอาจจะเป็นหุ่นยนต์ก็ได้ คำพูดนี้อาจฟังดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบันมีการนำระบบซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถอัปเดตและ “คิด” ได้ด้วยตัวเองมาใช้งานเพิ่มมากขึ้นในแวดวงกฎหมาย
โจชัว บราวเดอร์ เรียกแอปพลิเคชัน DoNotPay ของเขาว่า “หุ่นยนต์ทนายความตัวแรกของโลก”
แอปฯ นี้ช่วยให้ผู้ใช้งานร่างเอกสารด้านกฎหมายได้ เพียงแค่คุณบอกกับแชตบอตไปว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้น เช่น อุทธรณ์ค่าปรับจอดรถ จากนั้นมันก็จะแนะนำว่า ภาษากฎหมายที่เหมาะสมที่สุดที่ควรใช้คืออะไร
“คนสามารถพิมพ์ข้อโต้แย้งของตัวเองลงไปโดยใช้คำพูดของตัวเอง แล้วซอฟต์แวร์ตัวนี้ซึ่งมีแบบจำลองการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ก็จะจับคู่คำพูดนั้นกับวิธีการพูดในทางกฎหมายที่ถูกต้อง” เขากล่าว
ชายหนุ่มวัย 24 ปี และบริษัทของเขาเองอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ แต่จุดกำเนิดของบริษัทก่อตั้งขึ้นในกรุงลอนดอนช่วงปี 2015 ซึ่งขณะนั้นนายบราวเดอร์มีอายุ 18 ปี
โจชัว บราวเดอร์ พัฒนา DoNotPay เพื่อแก้ปัญหาใบสั่งค่าปรับจอดรถของตัวเอง
“ในฐานะวัยรุ่นตอนปลายในเมืองเฮนดอนทางเหนือของกรุงลอนดอน ผมขับรถแย่มาก” เขากล่าว “ผมได้ใบสั่งค่าปรับจอดรถแพงมาก ซึ่งผมจ่ายไม่ไหว เพราะผมยังเรียนมัธยมปลายอยู่”
หลังจากได้ค้นคว้าและใช้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรี นายบราวเดอร์ระบุว่า เขาได้ค้นพบวิธีการที่ดีที่สุดในการอุทธรณ์ค่าปรับ “ถ้าคุณรู้ว่าควรจะพูดอะไร คุณก็อาจประหยัดเวลาและเงินได้มาก”
แทนที่จะคัดลอกและวางเอกสารเดิมในแต่ละครั้ง ซึ่งเขาบอกว่าดูจะเป็น “งานที่สมบูรณ์แบบสำหรับซอฟต์แวร์” เขาจึงได้ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์สร้าง DoNotPay เวอร์ชั่นแรกขึ้นในปี 2015 “เพื่อทำให้ครอบครัวของผมประทับใจ”
นับจากนั้นแอปฯ นี้ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นทั่วสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ตอนนี้มันอาจช่วยคุณเขียนจดหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหลายอย่างได้ ทั้งการเคลมประกัน, การสมัครขอวีซ่านักท่องเที่ยว, จดหมายร้องเรียนห้างร้านหรือเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่น, การขอเงินคืนจากค่าใช้จ่ายสำหรับการไปพักร้อนแต่ไม่ได้ไป หรือการยกเลิกสมาชิกยิม ซึ่งสองเรื่องหลังมีคนใช้งานอย่างมากในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด
ปัจจุบัน DoNotPay มีผู้ยอมเสียเงินเพื่อให้ได้ใช้งาน 150,000 คน แม้ว่าจะมีผู้ที่ต่อต้านแอปฯ นี้ โดยคนบางส่วนระบุว่า คำแนะนำทางกฎหมายไม่แม่นยำเพียงพอ แต่ปีที่แล้ว แอปฯ นี้ก็ได้รับรางวัลจากเนติบัณฑิตยสภาอเมริกัน (American Bar Association) จากการที่มีคนเข้ามาใช้งานด้านกฎหมายเพิ่มมากขึ้น
นายบราวเดอร์ อ้างว่าอัตราการประสบความสำเร็จโดยรวมอยู่ที่ 80% ส่วนที่กรณีการใช้งานเกี่ยวกับค่าปรับเรื่องการจอดรถ ลดลงมาอยู่ที่ 65% เพราะว่า “คนบางส่วนทำผิด”
อีลีนอร์ วีเวอร์ ประธานบริษัทที่ผลิตซอฟต์แวร์กฎหมาย ระบุว่า ทนายความที่ใช้เอไอ “กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ”
คุณอาจคิดว่า ทนายความที่เป็นมนุษย์จะกลัวเอไอเข้ามาแย่งงาน แต่ทนายความบางส่วนรู้สึกดีใจ เพราะซอฟต์แวร์นี้อาจถูกนำมาใช้ในการจัดการแยกประเภทเอกสารคดีต่าง ๆ ในปริมาณมากได้
ทนายความคนหนึ่งที่คิดแบบนี้ก็คือ ซัลลี ฮ็อบสัน แห่งสำนักงานกฎหมายเดอะ 36 กรุ๊ป (The 36 Group) ในกรุงลอนดอน ซึ่งรับทำคดีอาญาต่าง ๆ เธอเพิ่งใช้เอไอในการไต่สวนคดีฆาตกรรมที่ซับซ้อนเมื่อไม่นานนี้ คดีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เอกสารมากกว่า 10,000 ฉบับ อย่างรวดเร็ว
ซอฟต์แวร์นี้ทำงานเสร็จเร็วกว่าที่คนทำ 4 สัปดาห์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 50,000 ปอนด์
อีลีนอร์ วีเวอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลูมิแนนซ์ (Luminance) ซึ่งผลิตซอฟต์แวร์ที่ฮ็อบสันใช้งาน กล่าวว่า ทนายความที่ใช้เอไอเข้ามาช่วย “กำลังกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น และนี่ไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าถ้ามีก็ดีอีกต่อไปแล้ว”
บริษัทกฎหมายอีกกว่า 300 แห่งใน 55 ประเทศก็ใช้ซอฟต์แวร์นี้เช่นนั้น และมีการใช้งานมากถึง 80 ภาษา
อีลีนอร์ วีเวอร์ บอกว่า ปัจจุบันซอฟต์แวร์ตรวจสอบเอกสารทำงานดีกว่าเดิม
“ในอดีตคุณมีเทคโนโลยี [ตรวจสอบเอกสาร] หลายอย่างที่ไม่ได้ดีไปกว่าการค้นคำสำคัญ อย่าง การกดคอนโทรลเอฟบนแล็ปท็อปของคุณ” นางวีเวอร์ กล่าว แต่ซอฟต์แวร์ที่ชาญฉลาดในปัจจุบันสามารถที่จะเชื่อมโยงคำและวลีที่เกี่ยวข้องได้
อย่างไรก็ตาม เอไอไม่เพียงแต่ช่วยทนายความในการคัดแยกหลักฐานทางเอกสารเท่านั้น มันยังช่วยให้พวกเขาเตรียมตัวในการว่าความ และช่วยค้นหาคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้ด้วย
ลอเรนซ์ ลีเบอร์แมน ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการข้อพิพาทดิจิทัลของสำนักกฎหมายเทย์เลอร์ เวสซิงในกรุงลอนดอน ใช้งานซอฟต์แวร์ประเภทนี้ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทของอิสราเอลที่ชื่อว่า ลิทิเกต (Litigate)
“คุณอัปโหลดสาระสำคัญในคดีและคำแก้ต่างของคุณ มันก็จะช่วยบอกว่าผู้เกี่ยวข้องหลัก ๆ คือใคร” เขากล่าว “จากนั้นเอไอก็จะเชื่อมโยงคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน และดึงลำดับเหตุการณ์สำคัญและคำอธิบายของสิ่งที่เกิดขึ้นออกมาพร้อมระบุวันที่ด้วย”
บางประเทศอย่างบราซิล มีคดีค้างอยู่ในศาลจำนวนมหาศาล ซึ่งการใช้ทนายความและผู้พิพากษาเอไออาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้
ด้านบรูซ โบรด ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ ดีลอยต์ เลกัล (Deloitte Legal) ปีกกฎหมายของดีลอยต์ (Deloitte) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านบัญชี บอกว่า ระบบซอฟต์แวร์ TAX-I ของบริษัท สามารถวิเคราะห์ข้อมูลศาลในอดีตในคดีอุทธรณ์ที่คล้ายคลึงกันได้
ทางบริษัทอ้างว่า มันสามารถที่จะทำนายได้อย่างแม่นยำราว 70% ว่าคดีความที่มีการอุทธรณ์จะได้ข้อยุติอย่างไร “มันบอกเราถึงโอกาสที่คุณจะประจำความสำเร็จในเชิงปริมาณ ซึ่งคุณสามารถใช้ตัดสินใจว่าควรจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ได้” นายโบรด กล่าวเพิ่มเติม
แต่แม้ว่าเอไอสามารถช่วยเขียนเอกสารกฎหมาย หรือเป็นผู้ช่วยทนายความได้ เราจะเห็น ทนายความหรือนิติกรที่เป็นหุ่นยนต์ หรือแม้แต่ผู้พิพากษาที่เป็นหุ่นยนต์หรือไม่
นางวีเวอร์ กล่าวว่า “ฉันคิดว่าในความเป็นจริงเรายังไม่เข้าใกล้เรื่องนั้นเลย”
แต่ ศ.ริชาร์ด โซสส์กินด์ ซึ่งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของประธานตุลาการอังกฤษ กลับไม่แน่ใจในเรื่องนี้
ศาสตราจารย์ริชาร์ด โซสส์กินด์ ระบุว่า ระบบเอไอ มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นในการทำนายผลการตัดสินคดีของศาล
ศ.โซสส์กินด์ กล่าวว่า ในทศวรรษ 1980 เขาเคยกลัวความคิดที่ว่า จะมีผู้พิพากษาสมองกลอย่างมาก แต่ตอนนี้เขาไม่กลัวแล้ว
เขาชี้ว่า แม้ว่าก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดใหญ่ “บราซิลมีคดีตกค้างในศาลมากกว่า 100 ล้านคดี และไม่มีทางที่ผู้พิพากษาและทนายความที่เป็นมนุษย์จะจัดการกับคดีความมากขนาดนั้นได้”
ดังนั้น ถ้าระบบเอไอสามารถทำนายผลการตัดสินของศาลได้อย่างแม่นยำอย่างมาก (ความน่าจะเป็น 95%) เขาบอกว่า บางทีเราอาจจะเริ่มคิดถึงการนำการทำนายนี้มาเป็นคำตัดสินที่มีผลผูกพันได้ โดยเฉพาะในประเทศที่มีคดีตกค้างในศาลจำนวนมาก
แหล่งข้อมูล