เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ต.ค. ณ ห้องประชุม 215 อาคารเอนกประสงค์ และลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. และ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมคณาจารย์ร่วมงานแถลงข่าวและส่งมอบนวัตกรรม “หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส กับ หุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง (UVC) ให้กับ นายอภิชาติ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเด้นท์ เบเกอรี่ จำกัด(มหาชน) นับเป็นสำเร็จอีกขั้นของผลงานการคิดค้นและพัฒนาของ มจพ. เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19)
สำหรับนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส และ หุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่ส่งมอบให้กับบริษัทฯ ในครั้งได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ซึ่งถือเป็นการสร้างนวัตกรรมและต่อยอดให้นักวิจัยที่จะสามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ไปสู่สังคมเพื่อช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน และสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ต่อไป
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอยฆ่าเชื้อโรคและไวรัส มีคุณสมบัติในการสร้าง ไอพ่นละอองฝอย ละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน สามารถพยุงตัวในอากาศได้นาน ละอองฝอยน้ำยาเคลื่อนที่ไปไกล 5-7 เมตร ฉีดพ่นได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ 37,680 ตารางเมตรต่อ 50 นาที ใช้วงจรควบคุมความปลอดภัยในการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าของหุ่นยนต์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ตัวส่งจะมีลักษณะเป็น Joy Controller ที่รับคำสั่งจากผู้ใช้งาน และ 2. ตัวรับจะประกอบไปด้วยตัวรับวิทยุ ทำหน้าที่รับข้อมูลจากตัวส่งวิทยุ ส่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ จากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ และส่งสัญญาณไปยังบอร์ดควบคุมมอเตอร์ และสามารถปรับความเร็ว ปรับความแรงของลมให้มากน้อย ตามความเหมาะสมของสถานที่
ในขณะที่หุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC สามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ รวมทั้งเชื้อโควิด-19 ด้วยรังสียูวีซีควบคุมด้วยระบบสัญญาณคลื่นวิทยุใช้การบังคับด้วยรีโมตคอนโทรลที่ออกแบบระบบวงจรขึ้นเองเป็นการฆ่าเชื้อที่อาศัยเทคนิค UVGI ฉายฆ่าเชื้อโรคที่ฟุ้ง/ลอยมากับอากาศและฉายฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวของวัสดุต่างๆ ระยะของการฉายใกล้ยิ่งมีความรับรังสีสูง ใช้เวลาน้อย ให้ปริมาณรังสีสูง เพียงพอกับการทำลายเชื้อ COVID-19 ได้ ด้วยกลไกการใช้รังสียูวีฆ่าเชื้อโรคนั้นจะเกิดการยับยั้งการขยายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์ หรือทำให้ไวรัสไม่สามารถจำลองตนเองได้ ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้นำระบบมาพัฒนาใหม่เพื่อให้ผู้ใช้งาน สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งการบำรุงรักษาไม่ยุ่งยากและซับซ้อน
ทั้งนี้ หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส และหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC ได้ถูกนำมาทดสอบและนำไปใช้งานจริงในภาคสนามโดยฉีดพ่นเพื่อป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้กับสถานที่ต่างๆ อาทิ ศูนย์พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 วัด สถานที่ประชุม สถานที่ทำงาน สำนักงาน สนามกีฬา และโรงพยาบาลต่างๆ ถือเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมสามารถตอบโจทย์กับความต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง นับเป็นผลงานจากรั้ว มจพ. ที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แหล่งข้อมูล https://www.thairath.co.th/news/local/2217672