ทำไมกล้องวงจรปิดมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกจึงถูกติดตั้งในประเทศจีน

Share

Loading

กล้อง CCTV ถือเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในบริหารเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ตลอดจนช่วยรักษาความปลอดภัย แต่ในบางประเทศนั้นการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อสอดสองตรวจตราดูความเคลื่อนไหวของผู้คน ก็ถือเป็นประเด็นอ่อนไหว ในเรื่องของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปที่ลักษณะทางวัฒนธรรมจะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลค่อนข้างสูง

แต่เมื่อย้อนกลับมามองในแถบเอเชีย ประเด็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ในการติดตั้งกล้องวงจรปิด ณ ที่สาธารณะกลับไม่ใช่ประเด็นอ่อนไหวเท่าไหร่นัก โดยบางคนมองว่าเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้วยซ้ำ ถ้ามีกล้องวงจรปิดมากมายติดตั้งอยู่ภายในเมือง

ส่วนประเทศที่ถือว่ามีการติดตั้งกล้องวงจรปิดมากที่สุดในโลก ก็หนีไม่พ้นประเทศจีนนั้นเอง ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของผู้คน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างทั่วถึง

โดยรายงานของ Comparitech กล่าวว่า เมืองต่าง ๆ ของจีนนั้นจะอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังภัยด้วยกล้องวงจรปิดอย่างเข้มข้นที่สุดในโลก เพราะปัจจุบันทั่วโลกมีกล้องวงจรปิดที่ถูกใช้งานอยู่ราว ๆ 770 ล้านตัว และเป็นกล้องวงจรปิดที่อยู่ในจีนถึง 54% หรือมีกล้องวงจรปิดจำนวนกว่า 415.8 ล้านตัวที่ติดตั้งอยู่ในจีนในแผ่นดินใหญ่นั้นเอง

และคาดการณ์ว่าจำนวนกล้องวงจรปิดในประเทศจีน จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านตัวในปีหน้า ซึ่งประเทศจีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน นั่นก็หมายความว่ามีอัตราส่วนของกล้องวงจรปิด 1 ตัว ต่อคนจีน 2 คน

แนวคิดการสอดส่องเพื่อเฝ้าระวัง

เดิมทีแนวคิดเรื่องการสอดส่องเพื่อเฝ้าระวังภัยนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ของจีน แต่เป็นแนวคิดที่มีอยู่เดิมตั้งแต่การปกครองสมัยโบราณ ที่ผู้ปกครองจะต้องสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนที่อยู่ในอาณาจักร เช่น ในสมัยฉินซีฮ่องเต้ ก็ได้มีแนวคิดในการที่จะสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนให้ได้ทุกตรอกซอกซอย แต่แนวคิดนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะเทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ในยุคหลังปฏิวัติคอมมิวนิสต์ เหมา เจ๋อตุง ก็มีนโยบาย หน้าต่างมีหู ประตูมีตา เพื่อที่จะสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนว่าใครมีความคิดต่อต้านการปกครองหรือเปล่า แต่ในยุคนั้นก็ทำได้เพียงแค่ให้เพื่อนบ้านเป็นผู้ตรวจสอบกันและกัน จนกระทั่งเข้าสู่ยุคปัจจุบัน แนวคิดการสอดส่องทุกตรอกซอกซอยก็เกิดขึ้นจริงภายใต้เทคโนโลยีกล้องวงจรปิด

โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอดส่องเฝ้าระวังภัย

Dahlia Peterson นักวิเคราะห์วิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Georgetown University’s Center for Security and Emerging Technology กล่าวว่ารัฐบาลจีนได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสอดส่องประชาชนมาตั้งแต่ปี 2003 ในโครงการ The Golden Shield Project

โดยจะมีทั้งการตรวจสอบการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชาชน การสร้างฐานข้อมูลที่เรียกว่า Hukou ประชากรครอบคลุม 96% ของทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประวัติการเดินทาง ประวัติอาชญากรรม ตลอดจนประวัติการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน

ซึ่งถ้าใครก็ตามที่มีการกระทำผิดกฎหมายและถูกขึ้นบัญชีดำ จะถูกตรวจจับทันทีในเวลาจะขึ้นรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถบัส หรือซื้อตั๋วเครื่องบิน

นอกจากนี้ยังมีโครงการชื่อ Safe Cities ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2003 โดยจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการแจ้งเตือนด้านภัยพิบัติ การจราจร และเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยโดยรวมของผู้คนในพื้นที่สาธารณะ

รวมถึงโครงการที่มีชื่อว่า SkyNet ที่มุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยี Facial Recognition ในกล้องวงจรปิดเป็นหลัก โดยรัฐบาลจีนระบุว่า เทคโนโลยีของโครงการนี้สามารถสแกนใบหน้าคนจีนทั้งประเทศได้ภายในเวลาหนึ่งวินาทีและมีความแม่นยำกว่า 99.8%

กรณีศึกษาที่น่าติดตามในแวดวงเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัย

แม้จีนจะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และสามารถใช้นโยบายที่ประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในแวดวงเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัย

เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความมั่นคงภายในประเทศ ได้ผลักดันให้เทคโนโลยีด้านระบบรักษาความปลอดภัยในจีนมีการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนกล้องวงจรปิดที่ผลิตในจีนนั้น เรียกได้ว่าถูกนำไปใช้ภายในประเทศ มากกว่าจำนวนการส่งออกเสียอีก

ดังนั้น เมื่อปัจจัยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ได้เอื้ออำนวยให้เทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยสามารถแสดงประสิทธิภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรติดตามต่อไป

เรียบเรียงโดย Security System Magazine

เครดิตรูปภาพ https://pixabay.com/