5 เทรนด์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในเกาหลีใต้

Share

Loading

การศึกษา “เทรนด์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของเกาหลีใต้” จะเป็นประโยชน์อย่างมาก จากที่เกาหลีใต้เป็นประเทศอันดับ 2 ของโลกที่มีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากที่สุด และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหุ่นยนต์ท็อป 5 จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มี Robot Sector ที่แข็งแรง

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา International Federation of Robotics (IFR) ได้เผนแพร่บทความในหัวข้อ “5 เทรนด์ในตลาดหุ่นยนต์เกาหลีใต้” โดย Minkyo Kim, CEO บริษัท Bigwave Robotics ผู้เป็นสมาชิก IFR และสถาบันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เกาหลี (Korea Association of Robot Industry) โดยมีเนื้อหา ดังนี้

บริษัทขนาดใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับหุ่นยนต์ในฐานะเครื่องมือสู่การเติบโตทางธุรกิจ

ในหลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตหุ่นยนต์ในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามในช่วงไม่นานมานี้ บริษัทขนาดใหญ่ เช่น  Samsung, LG, Hyundai, Doosan, Hanwha, และ KT ได้หันมาโฟกัสธุรกิจหุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นที่จับจ้องของตลาดที่จะผลักดันการเติบโตของเซกเตอร์หุ่นยนต์

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ธุรกิจหุ่นยนต์ของผู้ผลิตรายใหญ่ มี 3 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ประกอบด้วย

1 บริษัทขนาดใหญ่มักโฟกัสไปยังเซกเตอร์ที่มีการเติบโต เช่น โคบอทส์ (Cobots), หุ่นยนต์โลจิสติกส์, และหุ่นยนต์บริการ นอกจากนี้ ซัมซุงและ LG ยังอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าสู่ตลาดหุ่นยนต์ในครัวเรือนซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการทำงาน เพื่อขยายตลาดหุ่นยนต์ที่แต่เดิมเป็นแบบ B2B ให้กลายเป็น B2C อีกด้วย

2 บริษัทขนาดใหญ่ร่นเวลาในการพัฒนาหุ่นยนต์ จากการเข้าซื้อกิจการบริษัทอื่น ๆ เช่น  Hyundai Motor Company ที่เข้าซื้อกิจการของ Boston Dynamics ผู้ผลิตหุ่นยนต์สี่ขา ไปจนถึงการเปิดรับการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์กับบริษัทอื่น ๆ

3 บริษัทขนาดใหญ่ตั้งเป้าหมายตลาดระดับโลก ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีโครงสร้างพื้นฐานการขาย และการบริการที่มีอยู่ทั่วโลกเพื่อการจัดจำหน่ายในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว เช่น Doosan Robotics ที่ตั้งเป้าไปยังตลาดโลก มียอดขายในสหรัฐฯ และยุโรปรวมกันมากถึง 60% ของยอดขายทั้งหมดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ ต่างประเทศจะเข้าถึงหุ่นยนต์เกาหลีง่ายกว่าที่ผ่านมา

Ecosystem ที่หลากหลาย สู่ Success Stories ที่เพิ่มขึ้น

Robots Company หรือ บริษัทหุ่นยนต์ในเกาหลีใต้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ผู้ผลิตแบบ OEM และผู้ให้บริการด้านหุ่นยนต์ ซึ่งการเติบโตของธุรกิจทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากตลาดและนักลงทุนเป็นอย่างมาก เช่น Rainbow Robotics ผู้ผลิตโคบอทส์ และบริษัท OEM รายใหญ่จากเกาหลีที่ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดหุ้นจนบริษัทมีมูลค่ามากขึ้น หรือ Neuromeca ผู้ผลิตหุ่นยนต์โลจิสติกส์อัตโนมัติที่ถูกจับตามอง

ส่วนผู้ให้บริการด้านหุ่นยนต์นั้น มักได้รับความสนใจจากธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก เช่น Lounge X ที่โด่งดังจากการผลิตหุ่นยนต์บาริสต้า (Robot Barista) หรือหุ่นยนต์ชงกาแฟ, Robert Chicken และ DDeck ผู้ผลิตหุ่นยนต์ทอดไก่ ซึ่งสามารถพัฒนาหุนยนต์ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วผ่านการเรียนรู้ความล้มเหลวของหุ่นยนต์ทำอาหารยุคแรกจาก Silicon Valley

SMEs ใช้โรบอทเพิ่มขึ้น จากราคาที่ถูกลง

ที่ผ่านมา ผู้ใช้หุ่นยนต์ในเกาหลีส่วนมากคือธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีธุรกิจขนาดเล็กหันมาติดตั้งหุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาที่ถูกลง และการใช้งานที่ง่ายกว่าแต่ก่อน อีกทั้งยังเห็นผลชัดเจนอีกด้วย

ความคิดสร้างสรรค์ในการนำโรบอทมาใช้ในภาคบริการ

ปัจจุบัน หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ในธุรกิจเกาหลีอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น การนำหุ่นยนต์ทำเครื่องดื่มมาใช้ในภัตตาคาร, แฟรนไชส์ไก่ทอดที่ได้รับความนิยมในเกาหลีก็มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยทอดได้, ไปจนถึงการนำหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารมาใช้ในร้านอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสถานที่ที่มีวัยรุ่นใช้งานจำนวนมาก ซึ่งตัวอย่างการใช้งานเหล่านี้จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อีกด้วย ทำให้เกาหลีใต้มีการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการนำไปใช้งานอย่างหลากหลาย และรวดเร็วเป็นอย่างมาก

รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เชื่อถือได้

เทรนด์สุดท้ายที่ช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เกาหลีใต้ คือการผลักดันจากรัฐบาลเพื่อยกระดับให้หุ่นยนต์เกาหลีไปสู่เวทีโลก เช่น KIRIA (Korea institute for Robot industry Advancement) และ KAR (Korea Association of Robot industry) ที่ให้การสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาหุ่นยนต์, ร่างมาตรการให้สอดคล้องไปกับความต้องการของผู้ผลิต และความต้องการของตลาด, ไปจนถึงการส่งเสริมการติดตั้งหุ่นยนต์ และให้ความช่วยเหลือในการส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.mreport.co.th/news/trend-and-innovation/215-Top-5-Trends-Robots-Market-South-Korea