เทคโนโลยีจะเปลี่ยนชีวิตการทำงานของเราอย่างไรในอนาคตอันใกล้

Share

Loading

ปัจจุบัน โลกของเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ แบบที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูอย่างไร้ขีดจำกัด อะไรที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะมีได้บนโลกนี้ มันก็มีให้เห็นแล้ว อะไรที่เราเคยพูดว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้ต้องพูดใหม่แล้วว่า “ไม่น่าเชื่อ” ซึ่งการมีอยู่ของเทคโนโลยี เราจะเห็นว่ามันทำให้ชีวิตของคนทั่วไปง่ายขึ้น แต่ในมุมของคนทำงาน มันเป็นดาบสองคม คมหนึ่งเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยชั้นดี เป็นความอัจฉริยะที่ทำให้คนทำงานทำงานง่ายขึ้น แต่อีกด้านเทคโนโลยีก็ทำให้คนทำงานอยู่ยากขึ้นเช่นกัน

เทคโนโลยีที่เราเห็นว่ามันเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคนทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นจะหนีไม่พ้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) ที่นับวันผู้พัฒนายิ่งทำให้เทคโนโลยีสองตัวนี้ฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งถ้านำมันมาชนกัน ความอัจฉริยะก็จะคูณสอง แต่เราจะมองตื้น ๆ แบบนี้ไม่ได้ การพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่งจะทำให้โลกใบนี้มีเทคโนโลยีอีกมากมายสารพัด

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการทำงานและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลักษณะงานหลาย ๆ อย่างมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนที่ คือ ลักษณะงานที่ทำแบบกิจวัตร ทำซ้ำ ๆ วน ๆ ทุกวัน เพราะหัวใจการทำงานของเทคโนโลยี AI คือการที่ผู้พัฒนาใส่ข้อมูลให้มาก ๆ หลากหลายรูปแบบจนมันสามารถเรียนรู้ที่จะทำงานในลักษณะนั้นได้ เมื่อมันเรียนรู้แล้ว ก็จะทำวนไปตามรูปแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ ได้ และถ้ามันทดแทนแรงงานคนได้สมบูรณ์ หลายอาชีพจะต้องตกงาน เพราะเทคโนโลยีทำงานได้ดีกว่า และไม่จำเป็นต้องพึ่งมนุษย์อีกต่อไป

ความฉลาดของ AI และ IoT รวมถึงพวกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มีประโยชน์มากมายต่ออุตสาหกรรมและหลากหลายสายงาน ทั้งเรื่องของกำลังการผลิต การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ช่วยลดต้นทุน ความเสถียรของคุณภาพ เป็นต้น เมื่อคุณได้เห็นความสามารถของสิ่งไม่มีชีวิตเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ใครหลายคนกังวลก็ใกล้ความจริงขึ้นมาทุกที คือโลกการทำงานของมนุษย์จะเปลี่ยนไป คนจะถูกเทคโนโลยีแย่งงานกันหมด เร็วที่สุดก็ภายใน 5-10 ปีนี้ และคาดว่าจะแทนที่อย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่เกิน 20 ปี

ถ้าอย่างนั้น เราลองมาดูกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานของคนเราอย่างไร

เทคโนโลยีจะทำงานแทนคนได้อย่างสมบูรณ์

อีกไม่น่าเกิน 10 ปีต่อจากนี้ คำกล่าวที่บอกว่า AI จะแย่งงานคนนั้นไม่ไกลเกินจริงอีกต่อไป อย่างในปี 2021 เราก็ได้เห็นแล้วว่ามีอาชีพ หรือสายงานอะไรบ้างที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทจนคนจริง ๆ เริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ เช่น อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำหน้าที่แนะนำหรือโฆษณาสินค้า ยังมีอินฟลูเอนเซอร์เสมือนที่ไม่ใช่คนจริง ๆ เข้ามาตีตลาดแล้ว เราจึงต้องประเมินเรื่องการพัฒนาทางเทคโนโลยีไว้ให้มาก เพราะมันเติบโตเร็วและไปไกลกว่าที่เราคิด

ก็อย่างที่บอกว่าอีกไม่นาน ในบางสายงานอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งคนทำงานอีกต่อไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคนได้อย่างสมบูรณ์ ก็มีแนวโน้มที่องค์กรจะเลือกใช้เทคโนโลยี เพราะมองว่ามันคุ้มค่ากว่าที่จะลงทุน ลงทุนแค่ครั้งเดียวแต่สามารถใช้งานได้หลายปี ทำงานได้ครบวงจร ปากเสียงก็ไม่มี ในขณะที่แรงงานคนต้องจ่ายค่าจ้างทุกเดือน ประสิทธิภาพการทำงานของคนก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามสภาวะจิตใจและสภาพแวดล้อม มีปัญหากับการทำงานร่วมกับผู้อื่น นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีสามารถทำงานได้คุ้มทุนและรักษามาตรฐานการทำงานได้ดีกว่าแรงงานคน

หากระบบอัตโนมัติและความฉลาดของเทคโนโลยีมันยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ในวันที่เทคโนโลยีมันลดการพึ่งพาการทำงานจากมนุษย์ได้ถึงขีดสุด วันหนึ่งเราอาจจะรู้สึกตกใจและวิตกกังวลมากก็ได้ว่าอาชีพหรือสายงานตัวเองจะถูกเทคโนโลยีเข้ามาแย่งงานไหม คุณอาจไม่รู้ว่า AI ก็เขียนหนังสือได้ ไม่แน่ว่าต่อไปเราอาจได้เห็น AI แต่งนิยาย เขียนการ์ตูน หรือทำอะไรได้มากกว่านี้ก็ได้

คนต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยี

ด้วยข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เทคโนโลยียังมีเงื่อนไขในการใช้งาน งานบางสายงานหรือบางตำแหน่งจำเป็นต้องมีคนทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ในกรณีที่องค์กรนำจุดเด่นของเทคโนโลยีมาใช้งานแบบเอื้อประโยชน์ให้คนทำงานได้ คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีฝีมือก็ยังได้แสดงศักยภาพในการทำงานต่อไป โดยมีเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยให้งานเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนคนก็จะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อย่างสงบสุขกว่าที่คิด

แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องไม่ทำตัวเป็นภาระหรือได้งานที่ประสิทธิภาพต่ำกว่าที่เทคโนโลยีทำ เพราะถ้าคุณไร้ความสามารถ องค์กรก็จะไม่เอาคุณไว้เป็นทรัพยากรที่ไร้คุณค่า คนทำงานจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือ โดยเฉพาะความรู้ความสามารถที่จะช่วยให้ทำงานเป็นคู่หูกับเทคโนโลยีได้ หากเรารู้ว่าข้อจำกัดเทคโนโลยีทำอะไรได้ไม่ได้ ก็ใช้ความสามารถของตนเองไปเติมเต็มจุดด้อยของมัน ทำงานอยู่กับเทคโนโลยีพวกนี้ให้ได้โดยที่ไม่ด้อยกว่าอุปกรณ์เหล่านี้

ต้องพัฒนาตนเองถึงจะอยู่รอด

ถ้าไม่อยากตกงานเพราะเทคโนโลยีที่สุดแสนจะทันสมัย ก็ต้องพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้าน ยกตัวอย่างที่เทคโนโลยี AI ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเรื่องที่จะรู้เฉพาะคนที่มีการศึกษาสูง ๆ อีกต่อไป (แค่เล่นเฟซบุ๊กยังหนี AI ไม่พ้นเลย) คนกลุ่มแรก ๆ ที่จะถูก AI แย่งงาน คือแรงงานฝ่ายผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่งานตรงนั้นสามารถใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยทำงานแทนได้เกือบทั้งกระบวนการผลิต แม้จะฟังดูสิ้นหวังแต่เราต้องไม่หมดหวัง ยังไม่สายที่จะพัฒนาตัวเอง ถึงจะฉลาดเท่าหรือมากกว่าไม่ได้ (เพราะเป็นไปได้ยาก) ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่คิดจะปรับตัวอะไรเลย

หากประเมินตัวเองแล้วรู้ว่ายังไงก็สู้เทคโนโลยี คุณคงต้องมองหาลู่ทางใหม่ หรือเตรียมแผนสำรองไว้กรณีตกงานขึ้นมากะทันหัน โดยอาจมุ่งไปที่การพัฒนาตนเองไปในทิศทางที่ AI ยังมีข้อจำกัด เช่น การทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดทางประสาทและการมองเห็น งานสร้างสรรค์ งานที่ใช้ความฉลาดทางสังคม ใช้อารมณ์ความรู้สึก งานละเอียดรอบคอบ งานใช้สมองซับซ้อน งานที่มีประสิทธิภาพสูง ๆ หรือการแก้ไขปัญหาแปลก ๆ AI ยังทำงานได้อย่างละเอียดลึกซึ้งแทนคนไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะ AI ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก และมันแค่ทำงานตามคำสั่งที่คนป้อนเข้าไป

มนุษยสัมพันธ์ระหว่างกันถดถอย

แม้ว่าทุกวันนี้ เราจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็น “ตัวช่วย” ในการสื่อสารและทำงานระหว่างกัน อย่างในช่วงที่คนทำงานหลาย ๆ ออฟฟิศต้องทำงานจากที่บ้าน เราต่างไม่ได้เจอหน้ากันและกันด้วยตัวเอง โลกก็มีพวกเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยให้การทำงานร่วมกันง่ายขึ้นแม้จะอยู่กันคนละที่ กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าสัญญาณของการห่างเหินและมนุษยสัมพันธ์ระหว่างคนนั้นมันเริ่มถดถอยลงตั้งแต่มีโซเชียลมีเดียเข้ามา เรามองหน้าจอโทรศัพท์มากกว่ามองหน้ากัน

ในอนาคต ลำพังแค่การทำงานกับพวกเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่น ๆ อีกทั้งหลาย ๆ สายงานอาจมีการปรับลดจำนวนพนักงานลง มันก็คงทำให้การพูดคุยระหว่างเพื่อนร่วมงานลดลง หรือบางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องคุยกับคนจริง ๆ เลยก็ได้ในวันนั้น ซึ่งการคิดและการทำงานโดยไม่จำเป็นต้องสื่อสาร ไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของใคร ไม่จำเป็นต้องสนใจความรู้สึกใครด้วย อาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านมนุษยสัมพันธ์ได้

ความสะดวกสบายคือสิ่งที่ทุกคนต้องการ

ประโยชน์ข้อหนึ่งของเทคโนโลยี คือ ให้มันช่วยทุ่นแรง และทำให้อะไรหลาย ๆ อย่างสะดวกสบายขึ้น หากมองในมุมของผู้บริโภค พวกอุปกรณ์เทคโนโลยีสุดอัจฉริยะต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการดำรงชีวิต ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ถูกใจคนที่ขี้เกียจหยิบจับอะไรเอง หลายคนจึงมองว่าถ้าเทคโนโลยีกำลังยึดครองโลกจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรด้วยประโยชน์ข้อนี้

แต่นี่คือการมองในมุมของผู้บริโภค ในมุมของคนทำงาน การใช้เทคโนโลยีจะต้องเป็นไปในแบบพึ่งพิงกัน คนคุมเทคโนโลยีได้ และไม่ใช่การหวังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อมาอำนวยความสะดวกให้ตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าคนทำงานรอใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจนไม่ทำอะไรเอง มันก็จะบั่นทอนความรู้ความสามารถของคุณลงไปมาก สุดท้ายคุณก็เสพติดความสบายจากเทคโนโลยี จนอาจดูเหมือนคนที่ไม่มีความสามารถ หากเป็นเช่นนั้น คุณก็อาจจะไม่จำเป็นกับระบบการทำงานอีกต่อไปก็ได้

แหล่งข้อมูล https://tonkit360.com/88105?fbclid=IwAR10QeQCsKLB8fhnVZGm-huX_2byvBQGzCGxb2xci5SX_b7kLVnnC7kIZyo