สังคมทุกวันนี้มีปรากฏการณ์ ความเคลื่อนไหวและการแสดงออกของผู้คน จนมีคนเป็นห่วงว่า ไม่เพียงช่องว่างระหว่างวัย แต่ยังมีตัวเร่งจากเทคโนโลยียุคดิจิทัล ที่ทำให้ความคิด ทัศนคติ พฤติกรรมของคนแต่ละรุ่นยิ่งแตกต่างกันไป จนบางประเด็นถึงขั้นขัดแย้งทางความคิด
ความจริงคนที่เกิดต่างยุค ต่างประสบการณ์ หรือสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมทางกายและใจแต่ละคนได้สั่งสมมาจนเกิดความคิด ความเชื่อ และแสดงออกเป็นพฤติกรรม ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ดังนั้น ผู้ต้องการบริหารจัดการหรือติดต่อสัมพันธ์กับคนแต่ละรุ่นหรือ Generation ก็ต้องรับรู้และเข้าใจสภาวะพฤติกรรมของคนแต่ละช่วงวัย เพื่อการเข้าถึงและสร้างความร่วมมือร่วมใจให้เกิดขึ้น
ยิ่งเป็นนักธุรกิจ นักการตลาด ซึ่งต้องการเสนอสินค้าหรือบริการสู่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ผู้คนมีความคิดและรสนิยมแตกต่างหลากหลาย หากหวังจะครองใจ ครองตลาด จึงเป็นเรื่องท้าทายมาก
ผมขออ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ “การตลาด 5.0 : เทคโนโลยีเพื่อมวลมนุษยชาติ” ซึ่งฉบับภาษาอังกฤษคือ “MAEKETING 5.0” โดย ฟิลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์วิชาการตลาดชั้นนำของโลก ร่วมเขียนกับศิษย์คนสำคัญ เหมะวัน การตะจายา และ ไอวัน เซเตียวาน ที่เสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์อย่างน่าสนใจ เกี่ยวกับเหตุและผลที่สร้างความแตกต่างของคนแต่ละรุ่น ซึ่งผู้อ่านจะได้ประโยชน์ในการศึกษา เพื่อปรับกลยุทธ์และกลวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์
คน 5 รุ่นในสังคมร่วมโลก
การแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) วิธีหนึ่งก็คือ แบ่งตามรุ่นเกิดและเติบโตในช่วงเวลาเดียวกัน ที่มีประสบการณ์หรือเหตุการณ์คล้ายกัน ย่อมมีแนวโน้มเกิดค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรม ทำนองเดียวกัน จะได้เห็นจากข้อมูลคนแต่่ละรุ่นที่มีชีวิตเชื่อมโยงร่วมสังคมโลก ได้แก่
1 Baby boomers ขุมพลังเศรษฐกิจสูงวัย
คนเกิดระหว่างปี 1946 – 1964 เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสังคมและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพแล้ว ผู้คนตอนนั้นมักตัดสินใจมีลูกหลายคน ปัจจุบันคนรุ่นนี้อายุก็เลย 60 ปีไปแล้ว
คน GenB ยุคต้น มีแนวคิดนอกกระแสหลัก เช่นเริ่มเคลื่อนไหวใฝ่หาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น บางส่วนชอบวิถีชีวิตแบบเสรีชนที่เรียกว่า ฮิปปี้
คนรุ่นนี้ยุคปลาย มีชีวิตวัยรุ่นช่วงทศวรรษ 1970 ที่ผันผวน พ่อแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ จำเป็นต้องดูแลตัวเอง
แต่สังคมยุคปัจจุบัน คนรุ่น Baby Boomers โดยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนขึ้น หลายคนอายุเลย 65 ปีแล้วยังทำงาน หรือมีตำแหน่งบริหารในองค์กร
ผมจึงคิดว่าในยุคสมัยใหม่ สภาพของวัยที่แท้จริง ต้องเอา 10 ลบจากตัวเลขอายุที่รับรู้กันทุกคนแล้ว
2 Generation x ผู้นำที่แข็งแกร่ง
คน Gen X ที่เกิดระหว่างปี 1965- 1980 เป็นเด็กที่ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวน้อยแต่คลุกคลีอยู่กับเพื่อนมากกว่า เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น มีวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตเติบโต จึงเป็นคนรุ่นแรกของสังคมที่เข้าสู่โลกออนไลน์
คนรุ่นนี้นับว่ามีอิทธิพลสูงในระบบงานปัจจุบัน ได้สั่งสมประสบการณ์ทำงานเฉลี่ยแล้ว 20 ปี มีความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ จึงมีบทบาทเป็นผู้บริหารระดับสูงในวงการธุรกิจ
3 Generation Y รุ่นบุกเบิกสื่อโซเชียล
คน GenY เกิดระหว่างปี 1981- 1996 คนรุ่นนี้อยู่ในช่วงโลกเข้าสู่ “สหัสวรรษใหม่” จึงถูกเรียกอีกฉายาหนึ่งว่ารุ่น “มิลเลเนียลส์”
คนรุ่นนี้มักใช้สื่อโซเชียลและเทคโนโลยีผ่านอินเทอร์เน็ตในเรื่องส่วนตัว และค่อนข้างเปิดเผยตัวเองใน Social Media ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน แล้วต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคม
ความคิดเห็นของเพื่อนหรือสิ่งที่เพื่อนซี้ จึงมีอิทธิพลต่อคน GenY แต่ตัวเองเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้าก็จะหาข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือก่อน
คน GenY ค่อนข้างการศึกษาสูง มีความหลากหลาย ไม่ปิดกั้นการรับรู้ และมีอุดมการณ์มากกว่าคนรุ่นอื่น ขณะที่ชอบตั้งคำถามแทบทุกเรื่อง จึงมีแนวโน้มเกิดขัดแย้งกับคนรุ่นเก่ากว่า ที่ไปคาดหวังที่จะให้พวกเขาทำตามธรรมเนียมดั่งเดิม
4 Generation Z เริ่มยุคดิจิทัล
คน Gen Z เกิดระหว่างปี 1997- 2009 เป็นลูกของ Gen X เคยเห็นรุ่นพ่อแม่และคนรุ่นก่อนที่ต้องดิ้นรนทำงาน จึงตระหนักเรื่องการเงินมากกว่า รู้จักเก็บออม อยากมีเงินและมองความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกอาชีพตัวเอง
ยุคนี้อินเทอร์เน็ตเป็นกระแสหลักแล้ว คน Gen Z เป็นรุ่นแรกของยุคดิจิทัล เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ แล้วใช้งานเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ดิจิทัล หาข้อมูล ความรู้ ข่าวสาร ความบันเทิง และซื้อสินค้าหรือบริการ รวมทั้งใช้ติดต่อแสดงออกกับเครือข่ายสังคมออนไลน์
Gen Z ชอบแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเชื่อว่าด้วยพลังการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของผู้คน จะกดดันธุรกิจต้องปรับแนวทางมาส่งเสริมความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ตัว Gen Z ก็ชอบอุทิศตัวทำกิจกรรมด้วยจิตอาสา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคมให้ดีขึ้น และหวังให้นายจ้างมีโครงการส่งเสริมสังคมที่เปิดโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมด้วย
มีข้อมูลน่าสนใจว่า ปัจจุบันจำนวนประชากร Gen Z มีมากที่สุดในโลกแซงหน้าจำนวนคน Gen Y แล้ว จึงเป็นส่วนตลาดสำคัญที่นักการตลาดให้ความสนใจมาก
5 Generation Alpha ทายาทของมิลเลเนียลส์
คนรุ่นนี้เกิดหลังปี 2010- 2025 ซึ่ง Mark Mc Clrindle นักประชากรศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ได้นำอักษรตัวแรกของภาษากรีกมาเรียกคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ว่าเป็น Gen Alpha และเขาคาดว่าจะเป็นคนรุ่นที่ฉลาดที่สุด เพราะถูกหล่อหลอมด้านเทคโนโลยีจากการเกิดในยุคดิจิทัลเต็มตัว และยังได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมเชิงดิจิทัลของพ่อแม่ (Gen Y) และคนรุ่นพี่ (Gen Z)
คนรุ่นนี้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ตั้งแต่วัยเด็ก ใช้เวลาอยู่หน้าจอนานกว่าคนรุ่นก่อน เสพสื่อจากวีดีโอออนไลน์ เล่นเกมทางโทรศัพท์มือถือ บางคนยังมีช่อง YouTube และใช้งาน Instagram ของตัวเองอีกด้วย
การเรียนรู้ของคนรุ่นนี้ ยังมาจากการลงมือทำและทดลองเอง เพราะชอบของเล่นไฮเทคและอุปกรณ์อัจฉริยะที่ก้าวหน้าถึงขั้นเลียนแบบมนุษย์ เช่นปัญญาประดิษฐ์ การสั่งเครื่องด้วยเสียง และมีหุ่นยนต์บริการต่างๆที่สร้างสรรค์และพัฒนาต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบัน คน Gen Alpha ยังไม่มีกำลังซื้อมาก แต่ก็เริ่มมีอิทธิพลชักจูงให้คนรุ่นอื่นซื้อได้ แม้แต่พ่อแม่รุ่นมิลเลเนียลส์ ก็มีหลายรายเปิดโอกาสให้ลูก Gen Alpha ร่วมตัดสินใจซื้อของเข้าบ้านแล้ว
ช่วงชีวิตของคน 5 รุ่น
หนังสือการตลาด 5.0 ได้วิเคราะห์ให้เห็นวิถีชีวิตของคนรุ่นดังกล่าว ว่าแต่ละคนมักมี 4 ช่วงชีวิต โดยสรุปเป็นแผนภูมิภาพข้างต้น เราได้เห็นพัฒนาการโดยทั่วไปของมนุษย์ทั้ง 4 ช่วงดังนี้
1 เบื้องต้น 2 บากบั่น 3 บำรุง 4 บั้นปลาย ซึ่งชีวิตแต่ละช่วงใช้เวลา 20 ปี เมื่ออายุเริ่มเข้าสู่อีกช่วงหนึ่ง เป้าหมายชีวิตและสิ่งที่ให้ความสำคัญก็จะต่างไปจากเดิม
สำหรับคนรุ่น Gen B ที่ใช้เวลา 20 ปีขยับจากชีวิตช่วงแรกสู่ช่วงต่อไป จนปัจจุบันอยู่ในช่วงสุดท้ายแล้ว แต่ยังมีไฟและมีโอกาสข้ามการเกษียณอายุการทำงานมาได้ พร้อมกับเติมเต็มชีวิตให้มีคุณค่าตามจุดมุ่งหมาย (Purpose of Life)
แต่ทีมผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เชื่อว่า รุ่น Gen Y และ Gen Z จะมีขั้นตอนการก้าวต่อของช่วงชีวิต ในแต่ละช่วงจะสั้นกว่าอดีต และมีความคิดสุกงอมตั้งแต่ยังอายุน้อย แบบโตเร็วเช่นช่วง “เบื้องต้น” สามารถรวมกับช่วง “บำรุง” และพวกเขาปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเกื้อหนุนสังคมตั้งแต่วัย 20
ทั้งนี้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นโอกาสในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นและแม่นยำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสำคัญที่กระทบต่อ สังคม ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ในขั้นวิกฤตโลกขณะนี้
ขั้นตอนการเดินหน้าของช่วงชีวิตที่สั้นลง จึงมีนัยยะสำคัญต่อแนวทางการตลาดที่ตอบสนองลูกค้ากลุ่ม Gen Z และ Gen Alpha ในทศวรรษต่อไป ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัล ยุคการตลาด5.0 เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาสำคัญของมนุษยชาติให้เกิดผลเป็นจริง
แหล่งข้อมูล