หยุด”พลังงานสิ้นเปลือง” ยกระดับ”พลังงานหมุนเวียน” มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

Share

Loading

หลายคนอาจยังไม่คุ้นชินกับคำว่า “Net-Zero Emission” ว่าคืออะไรกันแน่ ก่อนอื่น ต้องขออธิบายก่อนว่าสิ่งนี้คือ การตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์  โดย ‘ปรับสมดุล’ ระหว่างปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา กับการดำเนินมาตราการต่างๆ เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในเวทีการประชุม COP26 ปีนี้เองที่จะเป็นตัวชี้ชะตาแนวทางการควบคุมอุณหภูมิโลกอย่างเข้มงวดไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในปัจจุบัน มีสองประเทศที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ได้แล้วได้แก่ ซูรินาเม และภูฏาน โดยเฉพาะภูฏานนั้นประสบความสำเร็จจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ ‘คาร์บอนติดลบ’ (Carbon Negative) เนื่องจากมีพื้นที่ป่าไม้ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก และมีการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ จากแถลงการณ์ของผู้นำแต่ละประเทศบนเวที COP26 ส่วนใหญ่นั้นมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ปี 2050 รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2060

แล้วเป้าหมายของไทยล่ะอยู่ที่ปีไหน? จากความคืบหน้าล่าสุด ประเทศไทยแถลงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งจะช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่อยู่ 15 ปี แต่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่ไหน และจะลดการปล่อยลงได้อย่างไร?

การผลิตพลังงานส่วนใหญ่ของไทยนั้นมาจากการใช้พลังงานสิ้นเปลือง หรือ “พลังงานฟอสซิล” อย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน โดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุดมาจากภาคพลังงานกว่า 71.65% ทางฝั่งภาครัฐเองได้กำหนดแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) ให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลมและแสงอาทิตย์มากขึ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50%

ด้านการขนส่ง ประเทศไทยมีอัตราการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มมากขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพฤติกรรมการใช้รถนี้นำมาซึ่งปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อีกด้วย หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกผลักดันทั่วโลก คือ การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่ชาร์จแบตเตอรีแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

แผนการดำเนินนโยบายด้านขนส่งในไทยที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น นโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 ซึ่งก็จะเริ่มต้นไปพร้อมกับแนวทางอื่น ๆ อย่างการอำนวยความสะดวกการใช้งาน ไปจนถึงพัฒนาอุสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตแบตเตอรี่เพื่อให้ผู้คนได้ใช้กันเอง

ความท้าทายสำคัญของไทย คือ การสร้างความตื่นตัวให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งในแง่ของราคาที่ต้องเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและความสะดวกในการใช้งานที่ยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก

ประเทศไทยเดินทางเข้าใกล้พลังงานทดแทนแค่ไหน?

ตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2020 นั้น ทั่วโลกมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนแล้วกว่า 10 ล้านคัน และเติบโตขึ้นกว่า 41% จากในปี 2019 แต่สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เรามีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด (HEV) วิ่งบนท้องถนนแล้วราว 181,000 คัน ซึ่งนับเป็น 1.7% ของรถยนต์ประเภทไม่เกิน 7 ที่นั่งในไทย ซึ่งแม้ว่า สถิติการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นจะยังไม่ใช่สัดส่วนที่เยอะมากนัก แต่หากมองย้อนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาจะพบว่าสัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 5.5% ของประเภทรถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง ซึ่งเริ่มแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวและสนใจของผู้คนมากขึ้น

ในส่วนของการผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายมาเป็นพลังงานทดแทนทางเลือกที่สำคัญ จากสถิติในปี 2561 ทั่วโลกมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลอยู่ที่ 500,000 เมกะวัตต์ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 24 โดย 3 ประเทศที่มีสัดส่วนการติดตั้งเยอะที่สุดคือ ฮอนดูรัส เยอรมนี และกรีซ แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้นอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ในปัจจุบันนั้น ภาครัฐก็ได้กำหนดเป้าหมายการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสอดคล้องกับแผน AEDP 2015 หรือแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตและซื้อขายพลังงานกันไปแล้วประมาณ 3,000 เมกะวัตต์

อนาคตสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

บนเส้นทางที่จะนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายนี้ เราจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่ต้องมีมาตรการหรือกฎหมายที่เด็ดขาดเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผน ภาคเอกชนที่ต้องรัดเข็มขัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง และที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากทุกคนในฐานะ “พลเมืองโลก” ที่จะต้องตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการรับผิดชอบต่อธรรมชาติ การเริ่มต้นเหล่านี้แม้จะเล็กน้อยแต่ในที่สุดก็จะรวมกันเป็นพลังที่ขับเคลื่อนโลกของเราได้ต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.setsocialimpact.com/Article/Detail/77630