เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากสำหรับความเปลี่ยนแปลงของแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รายใหญ่ของโลกอย่าง ‘Facebook’ ที่มีการรีแบรนด์ชื่อบริษัทใหม่เป็น ‘Meta’ โดย “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” CEO ของบริษัทได้นำตัวอักษร 4 ตัวแรกจากคำเต็มคือ ‘Metaverse’ ที่หมายถึง “โลกเสมือนจริง” (Virtual Reality-VR) มาใช้ในการตั้งชื่อใหม่ของบริษัท จนมีการพูดถึงโปรเจกต์ของ Facebook ในปี 2022 ที่จะเข้าสู่การเป็นโลกดิจิทัลเสมือนอย่างเต็มตัว
คำว่า Metaverse จึงถูกพูดถึงและได้รับความสนอีกครั้งว่า มันจะมาเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคต่อไปขนาดไหน ส่งผลอย่างไรต่อโลกของเทคโนโลยีและโลกธุรกิจ บทความนี้ได้สรุปบทบาทของ Metaverse มาให้เข้าใจอย่างง่ายๆ
เทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ใช่ชื่อใหม่
Metaverse ถูกพูดถึงครั้งแรกในปี 1992 จากนิยายวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า “Snow Crash” ที่บอกถึงการมีอยู่ของชีวิตบนโลกคู่ขนานกับโลกความเป็นจริง หรือในยุคนี้เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “อวตาร์” ก็คงจะตรงกับความเข้าใจมากที่สุด
สำนักข่าวรอยเตอร์ให้คำจำกัดความของคำๆ นี้แบบกว้างๆ ว่า เป็นการบรรจบกันระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกดิจิทัล ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเกือบจับต้องได้ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกันของสิ่งที่เป็นการสังเคราะห์โดยเทคโนโลยีดิจิทัล กับโลกมนุษย์ที่ทุกสิ่งนั้นล้วนมีมวล มีสะสาร และมีตัวตน
ถ้าจะให้เข้าใจมากขึ้นคือ เราอาจพูดคุยกับบุคคลที่อยู่อีกที่หนึ่งซึ่งห่างไกลกันได้โดยสามารถมองเห็นบุคคลนั้นเป็นแบบ 3 มิติรอบทิศทาง คล้ายกับโฮโลแกรมที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ไซไฟ
การไปชมคอนเสิร์ตที่แม้ว่าตัวจะไม่ได้ไปยังสถานที่จัดงาน แต่ก็มีส่วนร่วมในคอนเสิร์ตนั้นได้เหมือนกับอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ
แม้แต่การลองเสื้อผ้าโดยที่ไม่ต้องไปที่ร้าน การดูแบบจำลองห้องของคอนโดเสมือนจริงไม่ต้องไปที่โชว์รูม การซ้อมกีฬาที่โค้ชสามารถดูการซ้อมได้แม้จะไม่ได้มาเจอกับตัวนักกีฬา การเขียนโน๊ตบนอากาศ หรือแม้แต่การซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดนี้จะผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อของทั้งสองโลก เช่น แว่น Oculus ที่เข้าถึงโลกเสมือนแบบ VR (Virual Reality) หรือ แว่น Ray-Ban ที่ Facebook ร่วมผลิตกับแบรนด์แว่นตาชั้นนำนี้โดยใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่วางจำหน่ายแล้วในร้านของแบรนด์ทั้งที่สหรัฐฯ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ไอร์แลนด์, อิตาลี และสหราชอาณาจักร สนนราคาไว้ที่ 299 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,800 บาท
นอกจากนั้นก็เป็นการเข้าถึงผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนที่อาจจะเข้าถึงได้เพียงแค่ฟังชั่นพื้นฐานเท่านั้น
ไม่ใช่แค่จินตนาการเพ้อฝัน แต่มันเกิดขึ้นจริงแล้ว
เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันพัฒนาไปเร็วมาก มากเสียจนเราเริ่มแยกออกจากชีวิตประจำวันได้ยากมากขึ้น โลกเสมือนที่ถูกสังเคราะห์ด้วยระบบดิจิทัล กำลังกลายเป็นโลกที่ทุกคนจะต้องเข้าไปอยู่ในนั้นไม่ช้าก็เร็ว เพราะหน่วยงานต่างๆ หรือบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อสอดรับกับเทคโนโลยีนั้น ก็ได้สร้าง Metaverse ขึ้นมาเองโดยที่หลายคนไม่รู้ตัว
.
ออฟฟิศเสมือนจริงกำลังเป็นสิ่งที่หลายบริษัทเริ่มพัฒนาขึ้นมาเช่น สำนักงานของ Glimpse Group บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มโลกเสมือนจริงในมหานครนิวยอร์ก ที่ได้สร้างห้องทำงาน 3 มิติ ที่สามารถแสดงผลของตัวเลขต่างๆ ที่ผ่านหน้าจอขนาดยักษ์ 18 จอ ที่หากมองจอด้วยตาเปล่าก็ไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร
.
แต่เมื่อใส่แว่นตา VR เข้าไปแล้ว จะมองเห็นตัวเลขและกราฟต่างๆ ที่เป็น 3 มิติลอยอยู่ในอากาศรอบตัว ซึ่งถ้าหากจะเรียกใช้งานกราฟหรือตารางตัวเลขต่างๆ นั้นก็แค่ใช้คำสั่งที่โปรแกรมตั้งเอาไว้ ก็สามารถแสดงผลตามที่ต้องการได้
.
การเข้าและออกบริษัท ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงอาคารที่ตั้ง เพียงแค่สวมแว่นตา VR ก็สามารถเข้าถึงบริษัท และทำงานได้ตามหน้าที่ และการออกจากห้องทำงานก็เพียงแค่ถอดแว่นออกเท่านั้น
.
การประชุมแบบโต๊ะกลมอาจสามารถทำได้ โดยที่ไม่ต้องนัดมาประชุมพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ทุกคนจะมาในร่างอวตารดิจิทัล ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกก็เข้าร่วมประชุมในห้องเสมือนได้
.
แม้ว่าระบบยังพัฒนาไม่เต็มร้อย แต่อนาคตมันจะต้องไปถึงจุดนั้นในไม่ช้า
.
แม้แต่ Facebook ก็พัฒนาห้องทำงานเสมือนที่เรียกว่า ‘Infinite Office’ โดยผู้ใช้งานจะต้องสวมแว่นตา VR Oculus Quest ก่อนที่จะเข้าทำงาน ซึ่งการแสดงผลจะปรากฏหน้าจอแยกออกมามายมายให้ได้ใช้งานแบบพร้อมๆ กัน โดยที่ไม่ต้องมีจอคอมพ์ฯ ต่อเพิ่ม
.
ส่วนนักร้องนักดนตรีเริ่มใช้ Metaverse เป็นช่องทางในการจัดงานแสดงมากขึ้น เช่นคอนเสิร์ตของ ‘Ariana Grande’ ที่มีผู้เข้าชมนับล้านในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางข่าวลบๆ ถามโถมใส่ Facebook
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ Facebook ก็โดแฉหนักเรื่องการถูกอดีตพนักงานบริษัทว่ามีการปล่อยให้ข่าวปลอมต่างๆ ว่อนบนหน้าฟีด สร้างความเข้าใจผิดแก่สังคม สร้างวาทะกรรม Hate Speech อย่างไร้การควบคุมเนื้อหาอย่างที่กล่าวอ้างมาตลอด แถมก่อนหน้านี้มาร์กยังเคยถูก คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนด้านบริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา (House Financial Services Committee) สอบสวนเรื่องการจัดการกับข่าวปลอม โฆษณาทางการเมือง และกรณี Cambridge Analytica ในอดีต โดยมาร์กพูดออกมาเองว่า อาจจะสามารถเลือกลงโฆษณาที่ไม่มีข้อเท็จจริง โดยหวังผลด้านการเมืองได้
ซึ่งในกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของ Facebook ในการจัดการกับข่าวปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับข่าวปลอมที่อาจส่งผลต่อการเมือง และการเลือกตั้งเมื่อปี 2019
ไหนจะประเด็นปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เมื่อ Apple ออกอัพเดทซอร์ฟแวร์ iOS 14 ที่ให้ผู้ใช้งานอนุญาตการเก็บข้อมูลการโฆษณาบนตัวเครื่องที่จำเป็นต่อการทำ Target Ad ซึ่งเมื่อผู้ใช้งาน iOS 14 สามารถเลือกที่จะให้ข้อมูลหรือไม่ให้ก็ได้ ย่อส่งผลต่อการทำโฆษณาที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของ Facebook
ซึ่งถ้าผู้คนเลือกไม่ให้ข้อมูล ย่อมกระทบกับ Facebook ที่จะไม่ได้ข้อมูลด้านพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อขายให้กับเอเจนซี่โฆษณา และได้แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยอย่างโจ่งแจ้งกับ Apple ผ่านหน้าสื่อ ว่านโยบายความเป็นส่วนตัว Apple จะทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการทำโฆษณาบนเฟสบุ๊กอยู่ยาก
และยังมีประเด็นอีกมากมายที่โจมตีถาโถมเข้ามา ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เชื่อใจของผู้ใช้งานที่เกิดขึ้นกับโซเชียลมีเดียนี้
จริงๆ แล้วการเปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อรีแบรนด์ ลบภาพจำของเดิมเพื่อไปสู่ภาพใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงธุรกิจ เพื่อหวังผลบวกของภาพจำใหม่ แต่มันก็ใช้เวลานานกว่าคนจะลบภาพจำเดิมออกไปได้ และใช่ว่าจะได้ผลเพราะหากทำแบบเดิมๆ หรือมีข่าวเสียๆ หายๆ ออกมาเหมือนเดิมก็ไม่มีผลไม่ต่างอะไร
อย่างไรก็ตาม ทาง Facebook ได้ประกาศทุ่มเงินกว่า 50 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนามั่นใจว่า Metaverse จะมีความปลอดภัยมากเพียงพอ โดยเงินจำนวนนี้จะแจกจ่ายให้องค์กรและสถานศึกษาต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และ Women in Immersive Tech เป็นต้น
อีกไม่นานก็คงจะได้เห็นว่าโลก Metaverse มันจะเข้ามาใกล้ชีวิตของผู้คนอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เคยเห็นในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ มันก็จะเริ่มเป็นจริงอย่างแน่นอน แต่ความเป็นส่วนตัวของผู้คนก็จะเริ่มหายไปทีละน้อย ซึ่งมันคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะตราบใดที่คนเราอยู่บนโลกของเทคโนโลยี เราก็หนีไม่พ้นการถูกดึงเข้าไปสู่โลกที่สร้างขึ้นใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง ต่อให้เราจะปฏิเสธมันมากขนาดไหนก็ตาม
แหล่งอ้างอิง
แหล่งข้อมูล https://web.facebook.com/reporterjourney/photos/a.140887172750283/1859332090905774/