ทำไมหลายคนเกิดความกังวลเกี่ยวกับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีควอนตัมของจีน

Share

Loading

พัฒนาการต่างๆ ในจีน โดยเฉพาะในด้านความก้าวล้ำนำสมัยของเทคโนโลยีควอนตัม กลายมาเป็นประเด็นที่ก่อความกังวลให้กับหลายฝ่ายทั่วโลกพอควร ในช่วงที่ความตึงเครียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังคงเป็นสิ่งที่ถูกจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ความก้าวล้ำนำสมัยของระบบการประมวลผลควอนตัมที่จีนเดินหน้าพัฒนาอยู่นี้ จะกลายมาเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญสำหรับรัฐบาลกรุงปักกิ่งในการเสริมสร้างสมรรถภาพของกองทัพของตน ซึ่งได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกอยู่แล้วในเวลานี้

ทั้งนี้ เทคโนโลยีควอนตัมคือระบบประมวลผลแบบหนึ่งซึ่งช่วยทำให้เครื่องจักรที่เดินเครื่องด้วยพลังงานระดับสูงสามารถทำการคำนวณต่างๆ ที่มีความซับซ้อนเกินกว่าอุปกรณ์ทั่วๆ ไปจะรับมือได้

รายงานของสถาบัน International Institute for Strategic Studies ที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 2019 ระบุว่า แนวคิดว่าด้วย เทคโนโลยีควอนตัม นั้นถูกค้นพบโดย ริชาร์ด ไฟน์แมน นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันในปี ค.ศ. 1980 นำมาซึ่งประโยชน์ทางการทหารที่มีความสำคัญถึง 2 ประการ อันได้แก่ การถอดรหัสข้อความที่มีการเข้ารหัสไว้ และการส่งกุญแจเข้ารหัสที่มีความสามารถดักสกัดการสื่อสารที่มีการใส่ระบบป้องกันภัยไว้ได้

อเล็กซานเดอร์ วูวิง ศาสตราจารย์ จากศูนย์ Daniel K.Inoue Asia-Pacific Center for Security Studies ในฮาวาย กล่าวว่า ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากความก้าวล้ำด้านการประมวลผลควอนตัมของจีนก็คือ การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในยุทธศาสตร์พลเรือน-การทหาร ซึ่งก็คือ การที่รัฐบาลเรียกให้ภาคเอกชนมาช่วยพัฒนาโครงการเกี่ยวกับกองทัพด้วย ขณะที่ หลายฝ่ายทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐบาลจีนเองได้ลงทุนเงินเป็นจำนวนมหาศาลสำหรับงานด้านการวิจัยและพัฒนาต่างๆ อยู่ด้วย

เมื่อจีนเร่งเดินหน้าเต็มที่

ในเวลานี้ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า นักวิจัยในจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบประมวลผลควอนตัมไปไกลเพียงใดแล้ว แต่ รายงานเพนตากอน 2021 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่นำเสนอต่อสภาคองเกรสมีการระบุเกี่ยวกับจีนว่า ประเทศมหาอำนาจในเอเชียรายนี้ “ยังคงเดินหน้าความพยายามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสำคัญๆ ซึ่งมาพร้อมกับศักยภาพด้านการทหารอันมีนัยสำคัญด้วย”

รายงานดังกล่าวยังอ้างถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจในข่วง 5 ปีฉบับที่ 14 ของจีน ซึ่งมีการให้ความสำคัญต่องานด้านเทคโนโลยีควอนตัมในลำดับต้นๆ ทั้งยังประกาศความตั้งใจที่จะพัฒนาและติดตั้งระบบ “ด้านการสื่อสารที่มีการเข้ารหัสควอนตัม” และเชื่อมต่อกับดาวเทียมได้ไปทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วย

เฮทเธอร์ เวสต์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทวิจัยการตลาด IDC ในรัฐแมสซาชูเซตส์ บอกกับ วีโอเอ ว่า เทคโนโลยีควอนตัมจะสามารถช่วยตรวจจับการเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำและเครื่องบินล่องหน (stealth aircraft) รวมทั้งยานพาหนะทางการทหารอื่นๆ ได้ เพราะการประมวลผลควอนตัมสามารถจัดการกับชุดคำสั่ง หรือ อัลกอริทึม แบบปกติของระบบที่ใช้ในกองทัพของประเทศอื่นๆ ได้

เว็บไซต์ China Daily ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีนเปิดเผยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จีน “ประสบความสำเร็จในงานด้านเทคโนโลยีควอนตันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึง การพัฒนาดาวเทียมควอนตัมดวงแรกของโลก และการสื่อสารแบบควอนตัมในระยะทาง 2,000 กิโลเมตรระหว่างกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งการพัฒนาต้นแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ควอนตัมระบบออพติคัลเครื่องแรกของโลก” โดยรายงานดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า จีนได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในทางทหารหรือไม่

ในอดีต จีนทำให้หลายประเทศรู้สึกตื่นกังวลไปแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยการผนวกโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนเข้ากับของฝ่ายทหาร ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาลูกผสม กองทัพ-พลเรือน ที่ทำให้นานาประเทศไม่สามารถตัดสินได้ว่า ในที่สุดแล้ว ผลงานการวิจัยทางวิชาการต่างๆ ในจีนนั้นจะตกเป็นของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน (People’s Liberation Army – PLA) หรือไม่

ศาสตราจารย์ อเล็กซานเดอร์ วูวิง จากศูนย์ Daniel K.Inoue Asia-Pacific Center for Security Studies กล่าวเสริมว่า แม้เทคโนโลยีควอนตัมทั่วโลกยังอยู่ใน “ระยะตั้งไข่” ในเวลานี้ หลายประเทศต่างกำลังเร่งมือพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น เยอรมนี หรือ จีน ขณะที่ ผู้ที่สามารถชิงความเป็นผู้นำในด้านนี้ได้ก็ไม่อาจจะรักษาตำแหน่งความเป็นจ้าวไว้ได้นาน เพราะคู่แข่งอื่นๆ น่าจะสามารถทำการก๊อปปี้เลียนแบบได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ความเสี่ยงของนานาประเทศ

รายงานจาก บริษัทที่ปรึกษาด้านไอที Booz Allen Hamilton ระบุว่า ผู้นำองค์กรและเจ้าหน้าที่บริหารด้านความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศหลายรายยังคง “ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับประโยชน์เชิงประยุกต์ของการประมวลผลควอนตัมและเรื่องของการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย”

รายงานชิ้นนี้ชี้ว่า “ผู้บริหารทั้งหลายไม่รู้เลยว่า เทคโนโลยีจะกลายมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้อย่างไรและเมื่อใด และจะกลายมาเป็นตัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คุกคาม เช่น จีน รวมทั้งของศัตรูทางไซเบอร์ของรัฐบาลและองค์กรด้านพาณิชย์ต่างๆ ทั่วโลกและของตัวผู้พัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมหลักของโลกได้อย่างไรด้วย”

และการที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน (PLA) ถูกจัดอันดับให้เป็นกองทัพที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากของสหรัฐฯ และรัสเซีย รัฐบาลต่างๆ ในเอเชีย ตั้งแต่ญี่ปุ่น ไปถึงไต้หวันและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายขนาดกองทัพเรือของจีน ในพื้นที่ทางทะเลที่มีกรณีพิพาทกันอยู่อย่างมาก จนทำให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันตัดสินใจยกระดับการเคลื่อนไหวทางทหารในพื้นที่เดียวกันนี้มาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2019 เพื่อจับตาดูการเคลื่อนไหวของจีนแล้ว

แต่จีนเองไม่ใช่ประเทศเดียวที่เดินหน้าเชิงรุกในเรื่องนี้ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมยังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำข้อตกลงด้านเทคโนโลยีทางการทหาร AUKUS ระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ที่มีการประกาศออกมาเมื่อเดือนกันยายน และจีนได้แสดงจุดยืนคัดค้านอย่างชัดเจนด้วย ขณะที่ สมาคม National Defense Industrial Association เปิดเผยว่า เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว มูลนิธิ National Science Foundation และกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนจัดตั้งทุนจำนวน 625 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับงานด้านการวิจัยและค้นคว้าเกี่ยวกับควอนตัมแล้วด้วย

ส่วนที่สิงคโปร์และไต้หวัน รายงานข่าวระบุว่า ทีมนักวิจัยกำลังเร่งศึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อยู่ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คาร์ล เธเยอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านการเมือง จากมหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาท์เวลส์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า ประเทศขนาดเล็กนั้นไม่น่าจะสามารถมาแข่งขันกับจีนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมได้เลย เพราะการดำเนินแผนงานนี้ต้องใช้วิศวกร ช่างเทคนิค และเงินจำนวนมากจริงๆ

แหล่งข้อมูล

https://www.sanook.com/hitech/1548077/