จีนเผยเป้าเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2025 พร้อมการพัฒนาเทคโนโลยี 6G ระดับสากล เพื่อเป็นเจ้าโลกด้านเทคโนโลยี

Share

Loading

ล่าสุด จีน ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ภายในปี 2025 เช่น เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 6G และ Big Data

ซึ่งความทะเยอทะยานในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ของจีนครั้งนี้ ก็มาจากการที่จีนต้องการจะแข่งกับคู่ปรับตลอดกาลอย่างสหรัฐฯ ตั้งแต่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยจากเอกสารที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะผู้บริหารระดับสูงของประเทศจีน กล่าวว่า

“อุตสาหกรรมหลักของเศรษฐกิจดิจิทัล จะคิดเป็น 10% ของ GDP ภายในปี 2025 เพิ่มขึ้นจาก 7.8% จากปี 2020”

ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผน “China’s 14th Five-Year Plan” ซึ่งเป็นแผนต้นแบบในการพัฒนาประเทศ ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2021 – 2025 ทั้งนี้ ปี 2021 ที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ให้น้ำหนักไปที่ “เทคโนโลยีแนวหน้า (Frontier Technology)” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัย 

นอกจากนี้ ยังมีการระบุเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาทิ

-ตั้งเป้าให้ยอดค้าปลีกออนไลน์ของประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 11.76 ล้านล้านหยวน ในปี 2020 เป็น 17 ล้านล้านหยวน ในปี 2025

-คาดว่ามูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเพิ่มขึ้นจาก 8.16 ล้านล้านหยวน ในปี 2020 เป็น 14 ล้านล้านหยวน ในปี 2025 หรือคิดเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้น 72%

-คาดว่าผู้ใช้กิกะบิตบรอดแบนด์ ซึ่งเป็นความเร็วการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุด จะเพิ่มขึ้นจาก 6.4 ล้านคน ในปี 2020 เป็น 60 ล้านคน ในปี 2025

ซึ่งการเพิ่มจำนวนการเชื่อมต่อและความเร็วอินเทอร์เน็ต นับเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของจีน เพื่อเพิ่มส่วนแบ่ง GDP ของเศรษฐกิจดิจิทัล นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า 5G จะเพิ่งเปิดตัวไปได้เกือบ ๆ 2 ปี เท่านั้น แต่แผนของรัฐบาลจีน ยังระบุถึงอินเทอร์เน็ต 6G ที่จีนมีแผนจะเพิ่มการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา 6G รวมถึงมีส่วนร่วมในการสร้างมาตรฐานสากลสำหรับ 6G ด้วย โดยประเทศจีน เริ่มวางรากฐานสำหรับการทำงานบน 6G ตั้งแต่ปี 2019 ทั้ง ๆ ที่ 5G เพิ่งเริ่มเปิดตัวสู่สาธารณะ และ 6G ยังไม่มีมาตรฐานหรือคำจำกัดความที่ตกลงร่วมกันว่าคืออะไร

ที่สำคัญ แผนของจีนยังเป็นเรื่องของการพึ่งพาตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์, Cloud Computing, การสร้าง Data Center และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ รัฐบาลจีน ยังให้คำมั่นที่จะดำเนินการกำกับดูแลภาคเทคโนโลยีภายในประเทศต่อไป โดยในปีที่ผ่านมา จีนค่อนข้างเข้มงวดในด้านกฎระเบียบสำหรับบริษัทเทคโนโลยี และนำกฎหมายใหม่มาบังคับใช้ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การต่อต้านการผูกขาด ไปจนถึงการปกป้องข้อมูลและจากเอกสารของสภาแห่งรัฐ ที่กล่าวว่า จะค้นหาวิธีการกำกับดูแลที่เข้ากันได้กับนโยบาย “การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืน”

อีกทั้งยังกล่าวว่า จะชี้แจงรายละเอียดด้านความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้วย

แหล่งข้อมูล

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4688681424557545&id=1387231808035873