ล่าสุด มีหลักเกณฑ์ที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1 ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2 ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใด ๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
3 ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
4 ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น
5 ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน สินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่น หรือบุคคลใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
6 ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน
ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลว่า หากมีคนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จะกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น “เงินบาท” และจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำอยู่บนเงินบาท
“หากคนไทยถือครองเงินบาทน้อยลง ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายยากขึ้น และสุดท้ายจะมีผลกระทบต่อทั้งคนที่ใช้ และไม่ได้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัล”
อีกเรื่องก็คือ สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ หากเงินบาทลดลง แบงก์ชาติก็ยังสามารถอัดฉีดเงินเข้าระบบ เสริมสภาพคล่องได้ แต่หากมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ต่างอะไรไปจากการที่เราใช้เงินตราต่างประเทศที่เราจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากเราใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวันกันมาก นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะยิ่งมีผลลดลง
นอกจากนั้น ก.ล.ต. ยังเปิดเผยมุมมองของประเทศต่าง ๆ ต่อการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อในการชำระ
– จีน และ รัสเซีย ห้ามทุกอย่าง ทั้งขุดคริปโท เทรดคริปโท และใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ
– อินโดนีเซีย ห้ามใช้ชำระค่าสินค้า
– อินเดีย อยู่ในระหว่างเสนอกฎหมาย
– เอลซัลวาดอร์ สนับสนุนทุกด้านที่เกี่ยวกับคริปโท
โดยประเทศไทย จะอยู่ในระดับกลาง ประชาชนยังคงสามารถลงทุนได้ สามารถทำธุรกรรม Peer-to-peer หรือยังโอนระหว่างกันเองได้อยู่ ห้ามเฉพาะใช้เป็นตัวกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ที่ผ่านมา ได้มีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีการบอกลูกค้าว่าสามารถรับชำระได้ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทาง ก.ล.ต. ก็ได้มีการส่งหนังสือไปยังบริษัทกลุ่มนี้แล้ว และผู้กำกับดูแลยืนยันว่าจะไม่สนับสนุนเรื่องนี้
แล้วผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ มีใครบ้าง ?
ขอบเขตการกำกับดูแลจะครอบคลุมตั้งแต่ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า ผู้ค้า ที่ปรึกษา รวมถึงผู้จัดการเงินทุน
โดยทั้งหมดที่เล่ามานี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ไปจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และ ก.ล.ต. ได้ระบุเพิ่มเติมว่าหากประกาศนี้มีการออกไปแล้วผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามและทำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน..
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/113397052526245/posts/1231611577371448/