ดีป้าเตรียมเปิดบัญชีบริการดิจิทัล หนุนสตาร์ทอัปเข้าตลาดภาครัฐ ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ คาดให้บริการปีงบประมาณ 2566 ขณะที่เอกชนและประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ภายใน ม.ค.ปีหน้า ผ่านแพลตฟอร์ม Tech Hunt มั่นใจสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทภายในปีแรกที่ให้บริการ
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวถึงแผนงานในปี2 565 ว่า ดีป้าจะดำเนินการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัปและผู้ให้บริการ SaaS หรือบริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์ สามารถเข้าสู่ตลาดหน่วยงานภาครัฐได้โดยการขึ้นบัญชีบริการดิจิทัลซึ่งต้องได้รับมาตรฐานทั้ง CMMI และ dSURE ของดีป้า โดยภาครัฐสามารถเลือกประยุกต์ใช้บริการดิจิทัลผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใสตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพื่อลดปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการถือครองครุภัณฑ์ที่ต้องมีการตั้งงบประมาณบำรุงรักษารายปี ตลอดจนต้องมีการตั้งงบจัดจ้างเพื่อปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัย ใช้งานได้ ช่วยให้ภาคเอกชน และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพ แสดงคุณสมบัติ และราคาชัดเจน เพื่อประกันมิให้ถูกหลอกลวงให้ซื้อเทคโนโลยีที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาสูงเกินจริง
อีกทั้งช่วยดิจิทัลสตาร์ทอัปไทยที่มีศักยภาพ มีมาตรฐานสามารถเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้สะดวกขึ้น โดยเอกชนสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ ก่อนนำใบเสร็จมายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ซึ่งคาดหวังว่าจะมีรายการผลิตภัณฑ์/บริการดิจิทัลให้บริการกว่า 500 รายการ ภายในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว 200 รายการ จะเพิ่มเป็น 700 บริการ ให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการเข้ามาเลือกซื้อได้ตามต้องการ คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทภายในปีแรกที่ให้บริการ
ปัจจุบัน บัญชีบริการดิจิทัลผ่านคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือน ม.ค.2565 และเนื่องจากเป็นการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง อาจใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งประเมินว่าภาครัฐจะสามารถใช้บัญชีบริการดิจิทัลได้ในต้นปีงบประมาณ 2566 แต่ภาคเอกชน หรือประชาชนสามารถใช้บริการบัญชีดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม Tech Hunt ได้ภายในเดือน ม.ค.2565
นอกจากนี้ จะมีโครงการ Smart City Ambassadors ขยายผลโครงการยุวทูตน้อยในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ เพิ่มจำนวน 150 คน ใน 150 พื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองอัจฉริยะ ในบทบาทที่ปรึกษาของพื้นที่ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องดิจิทัลโซลูชันให้หน่วยงานและประชาชนในท้องถิ่น โครงการเปิดร้านสะดวกซื้อบริการดิจิทัล ในชื่อ d-station โดยมีคนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ให้เครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัป (Sales Agent) ในพื้นที่ 8 จังหวัดนำร่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุน
และโครงการพัฒนา National Delivery Platform ซึ่งดีป้า ร่วมกับบริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม National Delivery ในชื่อ eatsHUB ด้วยค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 8% เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มรับส่งสินค้า/อาหารสัญชาติไทย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการร้าน สามารถสร้างฐานข้อมูลลูกค้าเป็นของตนเอง และช่วยสร้างอาชีพให้ผู้ว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้ผู้ประกอบการไทย ลดการเอารัดเอาเปรียบ เช่น การถูกเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงเกินควร ซึ่งขณะนี้ eatsHUB ได้รับการพัฒนาแล้วเสร็จโดยมีร้านค้าร่วมเป็นสมาชิกกับแพลตฟอร์มแล้วกว่า 8,000 ร้านค้า และพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม และพระนครศรีอยุธยา ช่วงเดือน ม.ค.2565
แหล่งข้อมูล