สิ่งประดิษฐ์หน้าตาเหมือนเครื่องร่อน 2 ลำ กำลัง “แหวกว่าย” อยู่ใต้ท้องทะเลลึกของหมู่เกาะแฟโร ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก
สิ่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “มังกรทะเล” หรือ “ว่าวใต้น้ำ” ที่แหวกว่ายไปในกระแสคลื่น แต่อันที่จริงมันคือ “กังหันไฮเทค” ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานกระแสน้ำในมหาสมุทร
“ว่าวใต้น้ำ” สองตัวนี้มีความยาวปีก 5 เมตร และมีลักษณะการเคลื่อนตัวใต้น้ำเป็นรูปเลข 8 เพื่อรับพลังงานจากกระแสน้ำทะเล โดยที่ตัวเครื่องถูกล่ามติดไว้กับก้นทะเล ด้วยสายเคเบิลเหล็กยาว 40 เมตร
การเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดจากแรงยกตัวของกระแสน้ำ แบบเดียวกับเครื่องบินที่ลอยขึ้นได้จากแรงลมที่ช่วยให้เกิดแรงยกปีกของเครื่อง
การเคลื่อนตัวในลักษณะนี้ ทำให้ว่าวใต้น้ำสามารถเคลื่อนตัวเป็นวงกว้างด้วยความเร็วที่สูงกว่ากระแสน้ำใต้ทะเลหลายเท่าตัว และทำให้มันสามารถเพิ่มปริมาณพลังงานที่ได้จากกระแสน้ำทะเล
คอมพิวเตอร์ที่อยู่บนตัวเครื่อง ทำหน้าที่บังคับให้ว่าวใต้น้ำหันไปในทิศทางที่มีกระแสน้ำแรง และอยู่ในระดับน้ำลึกที่เหมาะสม แต่หากบริเวณนั้นมีว่าวหลายตัวทำงานไปพร้อม ๆ กัน เครื่องก็จะกระจายตัวให้อยู่ห่างจากกันเพื่อป้องกันเหตุชนกัน
พลังงานไฟฟ้าที่ได้จะถูกส่งผ่านสายเคเบิลเหล็กที่ยึดโยงตัวเครื่องไว้กับก้นทะเลแล้วส่งต่อไปยังสถานีควบคุมใกล้กับเมืองริมฝั่งทะเล เวสต์มันนา
เรือนำว่าวใต้น้ำไปปล่อยไว้ในตำแหน่งที่กำหนด
เทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาโดย “มิเนสโต” (Minesto) บริษัทด้านวิศวกรรมที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 ซึ่งแตกออกมาจากบริษัทซาบ (Saab) ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของสวีเดน
ว่าวใต้น้ำ 2 ตัวที่หมู่เกาะแฟโร ผลิตไฟฟ้าป้อนให้แก่ SEV บริษัทไฟฟ้าของหมู่เกาะแห่งนี้ ตามโครงการทดลองที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา
ว่าวแต่ละตัวสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนได้ประมาณ 4-5 หลัง แต่นายมาร์ติน เอียดลุนด์ ผู้บริหารของมิเนสโต ระบุว่า จะนำว่าวขนาดใหญ่กว่าสองเท่าไปใช้ในทะเลแถบนี้ในช่วงต้นปี 2022
“ว่าวตัวใหม่จะมีความยาวปีก 12 เมตร และแต่ละตัวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.2 เมกะวัตต์” เขากล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า “เราเชื่อว่าฝูงว่าวเหล่านี้จะผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับการใช้งานของบ้านเรือนราวครึ่งหนึ่งบนหมู่เกาะแฟโร”
หมู่เกาะแฟโรซึ่งประกอบไปด้วยเกาะใหญ่หลัก 18 เกาะ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 50,000 คน เป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก
หมู่เกาะแห่งนี้มีสภาพภูมิอากาศที่ยากต่อการอยู่อาศัย โดยขึ้นชื่อเรื่องกระแสลมแรง ฝนตกอย่างต่อเนื่อง และคลื่นทะเลแรง ด้วยเหตุนี้จึงมีความหวังว่า การใช้ว่าวใต้น้ำในการผลิตไฟฟ้าจะช่วยให้หมู่เกาะเหล่านี้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ได้ภายในปี 2030
แม้ปัจจุบัน หมู่เกาะแฟโรจะใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานพลังน้ำราว 40% และไฟฟ้าจากพลังงานลมราว 12% แต่ก็ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลในรูปของน้ำมันดีเซลที่นำเข้าจากทางทะเลในสัดส่วนเกือบ 50%
นายเอียดลุนด์ กล่าวว่า ว่าวใต้น้ำถือเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานสำรองที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศไม่รุนแรง ยกตัวอย่างเช่นในฤดูร้อนปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งหมู่เกาะแฟโรแทบจะไม่มีกระแสลมอยู่นาน 2 เดือน
เขาชี้ว่า ว่าวใต้น้ำถือเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานที่ยั่งยืนและใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะในเกาะที่ไม่มีทางจะเชื่อมต่อสายไฟฟ้าจากประเทศอื่นได้ในยามที่พลังงานไฟฟ้าลดลง ตลอดจนการมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในทศวรรษหน้า
นอกจากหมู่เกาะแฟโรแล้ว ปัจจุบันบริษัทมิเนสโต ยังทำการทดลองใช้ว่าวใต้น้ำในไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ ซึ่งมีแผนจะทำฟาร์มว่าวใต้น้ำนอกชายฝั่งเกาะแองเกิลซีย์ รวมทั้งยังมีโครงการที่ไต้หวัน และรัฐฟลอริดา ของสหรัฐฯ ด้วย
แหล่งข้อมูล