โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมืองการบินตะวันออก เชิญชวนนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ 12 S Curve ใน 3 จังหวัด (ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา) โดยประเมินว่าจะสร้างการลงทุนสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี สร้างงานใหม่ 4.7 แสนตำแหน่ง และสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ แม้จะเกิดประโยชน์หลายด้าน แต่ย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ในด้านหนึ่ง อีอีซี จึงวางเป้าหมายพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ยกระดับการศึกษาให้เกิดความสมดุลทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยได้มีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “กองทุนอีอีซี” ขึ้นมาในปี 2563
กองทุนอีอีซี เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตราที่ 61 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชน ที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีอีซี แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
1 การพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมตลอดทั้งช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนและชุมชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
2 สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือที่อยู่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
3 เป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และ
4 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก
สำหรับงบประมาณก้อนแรกที่กองทุนอีอีซีได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ประจำปี 2563-2564 จำนวน 100 ล้านบาท แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1 การพัฒนาด้านพื้นที่และชุมชน 61.20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 61%
2 ด้านการศึกษา 36.43 ล้านบาท คิดเป็น 37%
3 ด้านบริหารกองทุน 2.35 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2%
เมื่อเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดการบริหารเงินกองทุนทั้ง 3 ส่วนพบว่ามีการใช้จ่ายไปในด้านต่างๆ ประกอบด้วย
ด้านที่ 1 การพัฒนาพื้นที่และชุมชน มีการดำเนินโครงการหลักๆ คือ
1 โครงการเสริมสร้างพลังและการมีส่วนร่วมของกลุ่มสตรี ในการดูแลและเฝ้าระวังด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอีอีซี (EEC Women Power) สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของกลุ่มพลังสตรีที่อยู่ในพื้นที่หรือสตรีอีอีซี จำนวน 448 คนในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในการเฝ้าระวังด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้าใจโครงการต่างๆ ของอีอีซี รวมทั้งเกิดโครงการในการร่วมกันพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น โครงการกำจัดขยะและคัดแยกขยะ โครงการพัฒนาเครือข่ายสตรีอีอีซี ต่อยอดสู่ความมั่นคงทางอาหาร โครงการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร ฯลฯ เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารการพัฒนาระหว่างกันในชุมชน ทั้งการติดตามและรายงานผลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเข้าถึงและต่อเนื่อง
2 โครงการเยาวชนอาสา เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษาเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวด้านพฤกษศาสตร์ในอีอีซี (EEC Youth for Environment) เป็นพัฒนาการเรียนรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติผ่านห้องเรียนธรรมชาติ (ป่าสิริเจริญวรรษ) ของเยาวชนผู้เข้าร่วมอบรม เกิดเป็นเครือข่ายเยาวชนอาสาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอีอีซี จำนวน 265 คน ณ ปัจจุบัน และมีเป้าหมายโครงการ 400 คน ให้ได้รับการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้จากแหล่งท่องเที่ยว ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านพฤกษศาสตร์ในอีอีซี เพื่อขยายผลสู่การส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ของกลุ่มผู้นำเยาวชนที่จะสามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้สู่ชุมชน เป็นกำลังสำคัญสร้างความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างเยาวชนต้นแบบเคียงคู่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี
3 โครงการพัฒนาบุคลากรระยะสั้น โดยเน้นทักษะด้านการท่องเที่ยวและสาขาที่สำคัญ (EEC Model-Type B–Tourism Ecosystem and Community-Based Tourism) ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่าน 7 หลักสูตรการอบรมและพัฒนาศักยภาพในรูปแบบ on-the-job coaching และ project-based learning ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 659 คน ในระยะเริ่มต้น เพื่อเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงการทำงานในชุมชนเป้าหมายของโครงการกว่า 1,000 คน มีการสื่อสารการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook Group ชื่อ “ห้องเรียนชุมชน EEC” เพื่อให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาให้เป็นชุมชนด้านการท่องเที่ยว สามารถพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้มีมูลค่า รู้จักสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าและชุมชน ด้วยการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ทางการตลาด ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งบริหารจัดการ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยชุมชนต้นแบบ ทั้ง 12 ชุมชน คือ จังหวัดชลบุรี : ชุมชนตะเคียนเตี้ย ชุมชนหนองปลาไหล ชุมชนชากแง้ว ชุมชนนาเกลือ จังหวัดระยอง : ชุมชนปากน้ำประแส ชุมชนประแสบน ชุมชนทะเลน้อย ชุมชนบ้านจำรุง จังหวัดฉะเชิงเทรา : ชุมชนคลองเขื่อน ชุมชนคลองสียัด ชุมชนอ่างเตย ชุมชนเนินน้อย
4 โครงการสนับสนุนพัฒนายาจากสารสกัดพืชสมุนไพรที่ได้รับส่งเสริมการปลูกในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Herbal Medicine Academic Centre) สนับสนุนมหาวิทยาลัยบูรพาในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาสมุนไพร และตรวจสารสกัดในสมุนไพร รวมทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาสมุนไพร สร้างนวัตกรรมจากภูมิปัญญาไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจชุมชนได้พัฒนาอย่างยั่งยืน เริ่มจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ อันเป็นหนึ่งในยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ช่วยให้คนในพื้นที่และคนไทยมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังส่งผลให้เกษตรกร และผู้ประกอบการในชุมชน สามารถสร้างรายได้จากการปลูกและจำหน่ายพืชสมุนไพรและยาสมุนไพร ยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่อีอีซี
ด้านที่ 2 การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา ประกอบด้วย
1 โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ (EEC Graduate Volunteer) เป็นโครงการพัฒนาบัณฑิตอาสาว่างงาน ให้มีความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการพัฒนาในอีอีซี รวมทั้งการพัฒนาชุมชน เพื่อให้บัณฑิตอาสาได้ลงพื้นที่ชุมชนจริงในการสำรวจข้อมูลประชากรและความต้องการของคนในพื้นที่ จัดเก็บเป็นฐานข้อมูลที่สามารถนำมากำหนดและดำเนินโครงการพัฒนาชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับด้านการศึกษาและทำให้บัณฑิตว่างงานในพื้นที่มีรายได้แล้ว ยังเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเลือกกลับไปทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองอีกด้วย
2 โครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการโรงเรียนต้นแบบการใช้ภาษาต่างประเทศ ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนในเขตพื้นที่อีอีซี (การใช้ภาษาอังกฤษ – จีน) ในระดับมัธยมศึกษา และ โรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อยกระดับการศึกษาสู่ระดับสากลในการใช้ภาษาต่างประเทศ (EEC Exemplary Foreign Language Education) มีโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 25 แห่ง จากจังหวัดระยอง 17 แห่งและจังหวัดชลบุรี 8 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียน 21 แห่ง วิทยาลัยอาชีวศึกษา 4 แห่ง มีครูต้นแบบภาษาอังกฤษ จำนวน 66 คน และครูต้นแบบภาษาจีน จำนวน 26 คน และผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งสิ้นกว่า 100 คน ที่จะสามารถนำผลลัพธ์ของโครงการไปจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศกับนักเรียนในสังกัดได้กว่า 37,000 คน
3 โครงการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน และยกระดับการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ DQ Citizenship ในชุมชนพื้นที่ 5G (EEC Local Leader) พัฒนาความรู้ด้านดิจิทัล สร้างความรู้ ความเข้าใจและเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในพื้นที่ 5G ต้นแบบ โดยในส่วนแรกเป็นการจัดอบรมหลักสูตร Entrepreneur Business Management จำนวน 100 ร้านค้า ซึ่งนอกจากเรื่องดิจิทัลแล้ว ยังจะเน้นในเรื่อง Entrepreneur Mindset ให้แก่ผู้ประกอบการนักธุรกิจรุ่นใหม่ และเรื่อง Smart Enterprises ให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 นักธุรกิจต้นแบบ เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีพัฒนาสู่การเป็นพลเมืองยุคดิจิทัล (Digital Citizenship) สร้างชุมชนและคนดิจิทัลต้นแบบให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในอีอีซี ร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้าจัดอบรมเพิ่มความรู้และศักยภาพทางเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการสู่ e-Government ให้แก่หน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างเครือข่ายแบบบูรณาการและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ 5G ต้นแบบ อำเภอบ้านฉาง มาบตาพุด จังหวัดระยอง และ เมืองพัทยา อำเภอสัตหีบ บางละมุง จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ทั้งภาครัฐและประชาชนเพื่อรองรับการพัฒนาสู่ EEC
ด้านที่ 3 การบริหารกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1 โครงการบริหารกองทุนฯ ให้เป็นองค์กรกองทุนต้นแบบเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยี สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ในการพิจารณาอนุมัติทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน 4 ด้าน ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้สอดคล้องกับปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว และการติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนาอย่างทั่วถึง มุ่งให้เกิดประโยชน์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนหรือชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญเพื่อดำเนินงานตอบโจทย์การพัฒนาอีอีซีในยุคดิจิทัล
2 โครงการสร้างภาคีเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในพื้นที่อีอีซี สร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ และสร้างการรับรู้ความเข้าใจการดำเนินงานโครงการของกองทุนอีอีซี ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เกิดเครือข่ายต้นแบบ เช่น เครือข่ายชุมชน (ด้านการท่องเที่ยว) เครือข่ายโรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวะต้นแบบ เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง เครือข่ายนักลงทุนในพื้นที่ เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้นำเยาวชนสร้างสรรค์ เป็นต้น
ดร.เพ็ชร ชินบุตร ผู้บริหารกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สรุปนโยบายการบริหารกองทุนฯว่า กองทุนอีอีซีมีเป้าประสงค์ว่าโครงการและเครือข่ายข้างต้นจะสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างชุมชนเข้มแข็งที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่อีอีซี นำชุมชนก้าวสู่มาตรฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะสร้างข้อได้เปรียบ (Comparative Advantage) ที่ชุมชนมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เกิดเป็นความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้สร้างโอกาสให้ชุมชนเติบโต แข่งขันได้ในระดับโลกไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต (New Engine of Growth) ของการพัฒนาอีอีซี ตลอดจนส่งผลให้เกิดการบูรณาการการลงทุนในพื้นที่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกองทุนฯ เริ่มดำเนินการในปี 2563 ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVOD-19) มีผลทำให้ความร่วมมือ และการประสานงานต่างๆในโครงการเกิดการชะลอตัว แต่โดยภาพรวมทุกโครงการของกองทุนฯ ยังคงเดินหน้าเต็มกำลังด้วยความคำนึงถึงชุมชนในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เตรียมขยายผลการดำเนินงานในแต่ละโครงการให้เห็นผลที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปีนี้ รวมไปถึงเร่งพัฒนาด้านการศึกษาและเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีในพื้นที่ 5G สร้างกลไกการกระจายความรู้สู่ท้องถิ่น สร้างความร่วมมือในชุมชน สร้างผู้นำท้องถิ่นยุคใหม่ เพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรและพืชสมุนไพรให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น
ดร.เพ็ชร ฉายภาพให้เห็นชัดๆ ว่า โครงการที่ดำเนินการในปี 2564 อย่างเช่นโครงการโรงเรียนต้นแบบภาษาต่างประเทศ กองทุนอีอีซีตั้งเป้าหมายเดินหน้าต่อจาก 25 สถาบันการศึกษาต้นแบบ ให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาครบถ้วนทั้ง 1,732 โรงเรียน และ 58 อาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและของโครงการสำคัญในอีอีซี และเพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
“ในปี 2565 กองทุนฯ ได้นำชุดข้อมูลที่ได้รับจากเครือข่ายชุมชนในโครงการต่างๆมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ประชาชนและชุมชนอย่างตรงจุด พิจารณาจากความสำคัญ คุ้มค่า และเร่งด่วนเป็นหลัก ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนาโครงการในอนาคตต่อไป” ดร.เพ็ชร ระบุ
แหล่งข้อมูล