การนำทางในภูมิประเทศที่ยากลำบาก มนุษย์และสัตว์จะรวมการรับรู้ทางสายตาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเข้ากับการรับรู้ของอวัยวะ คือขาและมือโดยอัตโนมัติ ช่วยให้พวกเขาจัดการกับพื้นลื่นหรืออ่อนนุ่มได้อย่างง่ายดาย ทำให้เคลื่อนที่ไปรอบๆได้อย่างมั่นใจ แม้ในทัศนวิสัยต่ำก็ตาม ปัจจุบันการพัฒนา หุ่นยนต์แบบมีขาก็สามารถทำงานเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์ได้ แต่ก็อยู่ในระดับที่จำกัดเท่านั้น
ล่าสุดนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก แห่งสวิตเซอร์แลนด์ นำโดยทาคาฮิโร มิกิ ได้พัฒนาวิธีควบคุมแบบใหม่อาศัยโครงข่ายประสาทเทียม ที่ช่วยให้หุ่นยนต์ 4 ขาที่เรียกว่า ANYmal ของ โรโบติกส์ ซิสเต็มส์ แล็บ (Robotic Systems Lab) สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งบนภูมิประเทศที่ยากลำบาก หุ่นยนต์จะรวมการรับรู้ทางสายตาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับความรู้สึกสัมผัสได้เป็นครั้งแรก โดยหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่บนส่วนที่ลาดชันบนพื้นลื่น ตามขั้นบันไดสูง พื้นกรวด และทางเดินในป่าที่เต็มไปด้วยรากของต้นไม้
นักวิจัยได้ทดสอบให้หุ่นยนต์ลองเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางสู่ยอดเขาเอตเซลที่สูง 1,098 เมตร ทางทิศใต้ของทะเลสาบซูริก ซึ่งเส้นทางเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่หุ่นยนต์ ANYmal ก็สามารถ เอาชนะได้โดยเคลื่อนที่ไปตามแนวตั้ง หรือปีนขึ้นไปได้ด้วยระยะทาง 120 เมตร อย่างง่ายดายในการเดินป่า 31 นาที ซึ่งเร็วกว่าระยะเวลาโดยประมาณสำหรับนักเดินป่าที่เป็นมนุษย์ราว 4 นาที โดยหุ่นยนต์ไม่หกล้มหรือเหยียบผิดพลาด นักวิจัยเชื่อว่าจะใช้หุ่นยนต์ ANYmal ได้ทุกที่ที่อันตรายเกินไปสำหรับมนุษย์หรือใช้กับหุ่นยนต์ตัวอื่นได้ในอนาคต
แหล่งข้อมูล