‘พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต’ ของดูไบที่เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆนี้ ได้ตั้งคำถามชวนคิดว่าโลกแห่งอนาคตจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร หากทุกคนสนับสนุนการพัฒนาแบบยั่งยืนและแบ่งปันทรัพยากรกัน?
สิ่งปลูกสร้างสีเงินทรงวงรีที่มีความสูงราว 70 เมตร พร้อมหน้าต่างตัวอักษรภาษาอาหรับที่สวยงามแปลกตาทั่วบริเวณตัวอาคาร คือ ส่วนสำคัญของตึก “พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต” (Museum of the Future) ที่นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) การออกเเบบตึกสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองที่ล้ำสมัยแต่ยังคงยึดถืออารยธรรมของชาวอาหรับอยู่
พิพิธภัณฑ์ Museum of the Future ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชวนผู้เยี่ยมชมจินตนาการถึงโลกในอนาคต อีก 50 ปีข้างหน้า ระยะเวลาดังกล่าวมีความสำคัญเพราะเทียบเท่ากับเวลาที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มพัฒนาตนเองจากชุมชนเล็กๆริมทะเลในปี 1970 จนมาสู่ศูนย์กลางของความมั่งคั่งทางด้านทรัพยากรน้ำมันได้ในปัจจุบัน
ซาราห์ อัล-อมารี่ รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีกล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำเป็นต้องพัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วเพื่อไล่ตามให้ทันชาติพัฒนาอื่นๆทั่วโลก โดยก่อนปี 1971 ประเทศของเธอไม่มีถนน ไม่มีการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือระบบไฟฟ้าเลยด้วยซ้ำ
เมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศเข้าร่วมประเทศอื่นๆในการลดการปล่อยก๊าซดักความร้อน จากปรากฏการณ์เรือนกระจก พร้อมลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในประเทศเพื่อการพัฒนาโลกในอนาคตที่ยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ “พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต” จึงพยายามสื่อสารให้ผู้คนนึกถึงโลกที่อุดมสมบูรณ์กับเมืองที่มีทรัพยากรและสินค้าต่างๆอำนวยความสะดวก
รัฐมนตรี ซาราห์ อัล-อมารี่ กล่าวว่า จุดประสงค์ของการทำเช่นนี้ คือ การทำให้ผู้คนเห็นถึงว่า การพัฒนาโลกอนาคตที่ยั่งยืนและอุดมสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องแลกด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
เบรนแดน แมคเก็ตทริค ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ (Creative director) ของพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต เห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้นและกล่าวเสริมว่า ผู้คนไม่จำเป็นต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ยุคโบราณ คนเรายังสามารถคิดค้น สร้าง และเติบโตทางเทคโนโลยีได้อีกด้วยการตระหนักและเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกใบนี้
เขากล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต คือ การชวนให้ผู้คนจินตนาการโลกในวันข้างหน้าที่พัฒนาแบบยั่งยืนและแบ่งปันทรัพยากรกันว่าเป็นอย่างไร และทำสิ่งนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงให้สำเร็จ
สำหรับสีสันของ Museum of the Future ผู้เยี่ยมชมจะได้เรียนรู้ถึง รถแท็กซี่ที่บินได้ พืชที่ช่วยต้านการติดไฟป่าได้ ฟาร์มพลังงานลมและโลกที่ใช้พลังงานจากอวกาศมาขับเคลื่อน พร้อมกับโครงการที่น่าสนใจอื่นๆรวมถึง Sol Project ที่พูดถึงการเก็บสะสมพลังงานจากดวงอาทิตย์และส่งพลังงานต่อไปยังดวงจันทร์ จากนั้นพลังงานดังกล่าวจะถูกปล่อยลงมาสู่อุปกรณ์ต่างๆบนโลกของเรา และโครงการสำรวจอวกาศ OSS Hope ที่ใช้ชื่อเดียวกับกับปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา UAE นับเป็นประเทศอาหรับแห่งแรกที่ส่งยานอวกาศไปดาวเคราะห์อื่นสำเร็จ
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลการพัฒนาจากศาสนาอิสลาม เช่น แผนที่ astrolabes ที่แสดงให้เห็นระบบสุริยะที่ชาวมุสลิมคิดค้นโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เมื่อหลายร้อยปีก่อน และพื้นที่นั่งสมาธิที่ผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสถึง การสั่นสะเทือน แสง และน้ำ ซึ่งสามสิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญสำหรับชนอาหรับในคาบสมุทรอาระเบีย
ส่วนตัวอาคารหลักนี้มีกระจกฉาบดำเป็นส่วนประกอบ ซึ่งส่องแสงออกมาผ่านเสาที่มีการออกเเบบสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างพันธุกรรมที่ถูกจิตนาการขึ้น จากพันธุ์พืชและสัตว์อีกด้วย โดยรัฐมนตรี ซาราห์ อัล-อมารี่ ย้ำว่า การสร้างบรรทัดฐานทางสังคม และวิถีชีวิตแบบใหม่ให้อยู่ร่วมกันได้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้
บริษัท Killa Design ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ระบุด้วยว่า ตัวอาคารได้รับรางวัลระดับนานาชาติ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ขั้นสูงสุด หรือ Platinum ซึ่งรับรองถึงมาตราฐานเพื่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานที่ดีเยี่ยม
สำหรับใครที่อยากจะเข้าไปเยี่ยมชมเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Museum of the Future ราคาของบัตรเข้าชมอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,300 บาทต่อท่าน
แหล่งข้อมูล