หนึ่งในเป้าหมายที่ทำให้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้ก้าวหน้าก็คือ สักวันหนึ่งมนุษย์อาจไม่ได้อาศัยอยู่แค่บนโลก แต่ในกาลข้างหน้าอาจต้องย้ายไปอยู่บนดาวดวงอื่น ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะตอนนี้มนุษย์ก็สามารถไปดวงจันทร์ได้แล้ว หรือในอีกไม่ช้านานก็จะเดินทางไปดาวอังคารได้เช่นกัน
มีการแนะนำให้รู้จักแผนการจัดหาทรัพยากรต่างๆบนดาวดวงอื่น เช่น ดวงจันทร์ ดาวอังคาร กับโครงการที่เรียกว่า In-Situ Resource Utilization หรือ ISRU มาสักพักแล้ว ตัวอย่างของการดำเนินงานของ ISRU ที่ประกาศความสำเร็จไปเมื่อปีก่อนก็คือ องค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาได้สร้างอุปกรณ์ที่สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนได้ เรื่องนี้จุดประกายให้เห็นว่าในอนาคตมนุษย์อาจใช้ชีวิตอยู่บนดาวดวงอื่นได้เช่นกัน
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมทำงานการศึกษาและเทคโนโลยีของโครงการ ExPeRT (Explo ration Preparation, Research and Technology) ขององค์การอวกาศยุโรป มองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มดำเนินการนำกลยุทธ์ ISRU ไปใช้บนดวงจันทร์ เนื่องจากแนวคิดพื้นฐานได้รับการพิสูจน์แล้วว่าพื้นผิวชั้นบนหรือที่เรียกว่า “เรโกลิธ” (Regolith) ของดวงจันทร์นั้น ประกอบด้วยออกซิเจนถึง 40-45% โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นองค์ประกอบเดียวที่มีมากที่สุด
แต่ปัญหาสำคัญคือออกซิเจนพวกนี้ถูกผูกมัดทางเคมีเป็นออกไซด์ในรูปของแร่ธาตุหรือเป็นแก้ว ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้งานได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการสกัดออกมาหลังจากจัดแข่งขันให้พัฒนาออกแบบและสร้างอุปกรณ์สำหรับภารกิจทดลองชุดแรกเพื่อสกัดออกซิเจนออกจากพื้นผิวดวงจันทร์ องค์การอวกาศยุโรปก็เลือกกลุ่มที่ชนะการแข่งขันออกมาแล้ว เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำโดยบริษัททาเลส อเลเนีย สเปซ (Thales Alenia Space) ในอังกฤษ ให้ออกแบบอุปกรณ์สำหรับภารกิจนี้ ซึ่งต้องมีขนาดกะทัดรัด ใช้พลังงานต่ำ และบินบนพื้นที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้ โดยต้องสกัดออกซิเจน 50-100 กรัมออกจากเรโกลิธ
ทั้งนี้ การแยกโลหะและออกซิเจนออกจากเรโกลิธบนดวงจันทร์ ทำไมถึงสำคัญ นั่นก็เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่มีค่ายิ่งสำหรับภารกิจอวกาศที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรบนโลก
แหล่งข้อมูล