Tesla ไล่พนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับระบบ Autopilot ออก หลังเขาเผยแพร่วิดีโอรีวิวระบบไร้คนขับ (Full Self Driving Beta System) ของ Tesla ที่ขับขี่ในสถานที่ต่าง ๆ รอบซิลิคอนแวลลีย์ในสหรัฐฯ บนช่อง YouTube ของตัวเอง
พนักงานดังกล่าว เป็นพนักงานชายที่มีชื่อว่า John Bernal ได้เริ่มทำงานกับ Tesla ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2020 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำข้อมูล
ต่อมาเขาก็ได้ย้ายตำแหน่งมาเป็นผู้ทำการทดสอบระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ก่อนที่เขาจะถูกไล่ออกเพียง 2 เดือน
โดย John Bernal เป็นผู้หลงใหลในรถยนต์ ประกอบกับการที่ Tesla เสนอให้พนักงานใช้ระบบไร้คนขับฟรี แต่แลกกับการเก็บข้อมูลด้านการขับขี่
เขาจึงตัดสินใจสั่งซื้อรถ Tesla Model 3 ของตัวเองเมื่อปลายปี 2020
โดยระบบดังกล่าว ทำให้รถสามารถขับขี่เองได้, เปิดไฟเลี้ยวเองได้ และจอดรถเองได้อย่างเต็มรูปแบบ
ตามปกติแล้ว สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานระบบไร้คนขับ ก็จะต้องมีการติดตั้งชิปประมวลผลเพิ่ม
ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 401,400 บาท) หรือสามารถจ่ายรายเดือนได้ที่เดือนละ 199 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,700 บาท)
หลังจากที่เขาทำการสั่งซื้อ และได้รับการส่งมอบไม่กี่เดือน
เขาก็ได้เริ่มทำช่อง YouTube ของตัวเองที่ชื่อว่า “AI Addict” เพื่อรีวิวว่าระบบไร้คนขับทำงานอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่ก็เป็นวิดีโอที่เขากับเพื่อน ๆ พากันขับรถไปรอบ ๆ สหรัฐฯ โดยใช้ระบบดังกล่าวในการขับขี่
แต่แล้วหลังจากทำช่องได้ไม่ถึง 1 ปี John Bernal ก็ได้รับรู้ว่า เขาถูก Tesla ไล่ออก
รวมถึงยังตัดการเข้าถึงระบบไร้คนขับออกจากรถ Tesla Model 3 ของเขาด้วย
ซึ่ง Tesla ก็ไม่ได้ให้เหตุผลในการไล่ออกอย่างชัดเจน
ทาง John Bernal ก็ได้ตั้งข้อสังเกตเอาเองว่า การไล่ออกเกิดขึ้นหลังจากที่เขาลงคลิปวิดีโอ ที่ระบบไร้คนขับของรถกำลังทำงาน แล้วเลี้ยวไปชนเข้ากับเสาข้างทาง
ซึ่งอาจจะทำให้ Tesla มองว่า เป็นการเผยแพร่ข้อมูลในเชิงที่ไม่ดีต่อบริษัทตัวเอง
John Bernal ยังบอกว่า ก่อนที่เขาจะถูกไล่ออก มีผู้จัดการมาบอกว่า เขาละเมิดนโยบายของบริษัท และช่อง YouTube ของเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทด้วย
อย่างไรก็ดี John Bernal ได้ยืนยันเสมอเกี่ยวกับความโปร่งใสในการทำช่อง YouTube ของเขา
และเขาไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับนโยบายของบริษัท ในการห้ามรีวิวเกี่ยวกับรถยนต์ที่เป็นทรัพย์สินของตัวเองเลย
ซึ่งเรื่องนี้ ก็ทำให้หลายคนมองว่า Tesla และบริษัทต่าง ๆ ในซิลิคอนแวลลีย์ ต่างก็ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความภักดี
หมายถึงว่า การวิพากษ์วิจารณ์ภายในบริษัท เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
แต่การที่พนักงานวิพากษ์วิจารณ์บริษัทในที่สาธารณะ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ภักดีต่อบริษัท
นั่นจึงทำให้ John Bernal ถูกไล่ออกนั่นเอง..
และแม้ว่าเขาจะถูกไล่ออก แต่เขาก็บอกว่า “เขายังมีความสนใจเกี่ยวกับ Tesla, เรื่องความปลอดภัยของรถยนต์ และยังคงค้นหา แก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อไป”
สำหรับคลิปแนวนี้ ไม่ใช่แค่ John Bernal ที่ทำแค่เพียงช่องเดียว
ยังมีผู้ใช้งานรายอื่น ๆ ที่ต่างก็ทำคลิปแนวนี้เช่นกัน เช่น ช่อง Dirty Tesla, Chuck Cook, Kim Paquette
แหล่งข้อมูล www.facebook.com/MarketThinkTH