ยุโรปเห็นชอบกฎใหม่ที่บังคับให้ Big Tech ควบคุมเนื้อหาบนแพลตฟอร์มเข้มงวด

Share

Loading

หลังจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปมีการเสนอกฎหมายใหม่ที่มีชื่อว่า “Digital Services Act (DSA)” เพื่อกำกับให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ควบคุมดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง เช่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ล่าสุด สหภาพยุโรป (EU) เห็นชอบกฎหมายดังกล่าวแล้ว โดยจะมีผลให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Meta เจ้าของ Facebook, Instagram และ WhatsApp หรือ Google เจ้าของ YouTube ต้องควบคุมเนื้อหาที่ผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มอย่างเข้มงวดมากขึ้น

เช่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ต้องลบเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง, เนื้อหายั่วยุให้ก่อการร้าย, เนื้อหาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ออกจากแพลตฟอร์มให้รวดเร็วที่สุด หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ถูกเรียกร้องหลายครั้งว่า ล้มเหลวในการควบคุมแพลตฟอร์มของตัวเอง

รวมถึงในการยิงโฆษณา กฎหมายนี้จะไม่อนุญาตให้แพลตฟอร์มกำหนดเป้าหมายด้วยข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน เช่น รสนิยมทางเพศ, ศาสนา และชาติพันธุ์ รวมถึงไม่ให้กำหนดเป้าหมายในการโฆษณากับผู้ใช้งานที่เป็นเด็กด้วย

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น ในเรื่องของอัลกอริทึมที่ใช้ในการป้อนเนื้อหาให้กับผู้ใช้งาน และอาจต้องมีการป้อนเนื้อหาแบบทางเลือกที่ไม่อิงตามการใช้งานของผู้ใช้งาน เช่น หน้าฟีดที่เรียงตามลำดับเวลา

หากบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามกฎใหม่นี้ อาจจะต้องเสียค่าปรับสูงถึง 6% ของรายได้ประจำปีทั่วโลก เช่น Meta อาจต้องเสียค่าปรับสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 238,280 ล้านบาท) เมื่ออิงจากรายได้ของ Meta ในปี 2021 ที่ผ่านมา

ซึ่งหลังจากที่สหภาพยุโรปเห็นชอบ ทาง Google ได้ออกมาระบุแล้วว่า บริษัทยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎ DSA ในการทำให้อินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบมากขึ้น

สำหรับกฎหมายใหม่นี้ คาดว่าจะมีผลบังคับอย่างเร็วที่สุดในปี 2024 หรือปีหน้า ควบคู่ไปกับกฎหมายอีกฉบับ ที่มีชื่อว่า Digital Markets Act (DMA) เพื่อควบคุมแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ให้ผูกขาด หรือใช้อิทธิพลในการกลั่นแกล้งคู่แข่ง

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/MarketThinkTH/posts/4979574418801576/