ในโลกยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีพัฒนาและก้าวไกลไปมากในทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ความบันเทิง คมนาคม จนรวมไปถึงภาคการเกษตรที่หลายคนคิดว่าได้ถูกทิ้งให้ล้าหลังยุค 4.0 นี้ไป แต่ในแท้ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีด้านการเกษตรก็ได้มีพัฒนาการอย่างก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเข้ามาเพื่อพัฒนากระบวนการด้านการเกษตรให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และมีพัฒนาการอย่างมั่นคง ยั่งยืน
เกษตรอัจฉริยะ จากยุค 2.0 สู่ยุค 4.0
จากอดีตที่ผ่านมา เรามองประเทศไทยของเราเองเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งครัวของโลก และสิ่งที่กล่าวมาก็ไม่ได้เกินความเป็นจริงไปอย่างไร เพราะประเทศไทยสามารถผลิตอาหารเพื่อใช้ทั้งบริโภคภายในและส่งออกได้เป็นอย่างมาก ทั้งของสด และของแปรรูป โดยในตลอดหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทยมีเป็นจำนวนมากถึง 138 ล้านไร้ และมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) สูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยสัดส่วนที่สูงที่สุดในตลาดการเกษตรคือรายได้จากการเพาะปลูกพืชผล โดยนับเป็นสัดส่วนสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ของการเกษตรทั้งหมด
การทำการเกษตรในแต่ละยุคสมัยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายมากมายนับตั้งแต่สมัยอดีตกาล ตั้งแต่การเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานคน มาเป็นการใช้แรงงานเครื่องจัก และการวางแผนการปลูกพืช การชลประทาน ที่ทำให้เรามีประสิทธิผลมากขึ้น และลดการพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศน้อยลง จนเข้ามาถึงช่วงเกษตรกร 2.0 ที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการใช้เครื่องจักรเบาและเครื่องจักหนัก ที่ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การเกษตรส่งออกได้อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพสูง
หลังจากยุคเกษตร 2.0 มา เทคโนโลยีทางการเกษตรดูเหมือนว่าจะเข้ามาถึงจุดสูงสุดในการทำการเกษตรแล้ว ถ้าอย่างนั้นยุค 4.0 คืออะไร? ในเมื่อเราสามารถใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรในการผลิตและขนส่งเพื่อทดแทนแรงงานคนได้หมดแล้ว ทั้งนี้ เกษตรอัจฉริยะยุค 4.0 นั้นจะเป็นการพัฒนาในเรื่องของความแม่นยำ การควบคุมคุณภาพสินค้า ที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตในทุก ๆ ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเมล็ด การเตรียมดิน ไปจนถึงการปลูก การเก็บเกี่ยว เรียกได้ว่าเป็นการสร้างระบบฟาร์มอัจฉริยะที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและมีความแม่นยำสูง
เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm หรือ Intelligent Farm)
เกษตรอัจฉริยะเป็นการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความแม่นยำสูง เข้ามาช่วยในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ในยุคที่แรงงานในภาคเกษตรลดลงมาตลอดหลายปี ทำให้ภาคการเกษตรจำเป็นต้องมีการปรับตัวโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น
องค์ประกอบสำคัญในการทำฟาร์มอัจฉริยะจะต้องมี 3 ด้านด้วยกัน จึงจะทำให้ฟาร์มอัจฉริยะมีประสิทธิภาพนั่นคือ
1 การระบุตำแหน่งพื้นที่เพาะปลูก
2 การแปรวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรงกับระยะเวลาของการเพาะปลูกพืช
3 การบริหารจัดการพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และต้องเข้ากับการเพาะปลูกพืชในชนิดนั้น ๆ
ด้วยเทคโนโลยีที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ความรู้ทางการทำการเกษตรอัจฉริยะมีมากขึ้นบนอินเตอร์เน็ต และทำให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นมาก เพราะการทำการเกษตรอัจฉริยะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการทำการเกษตรในศตวรรษที่ 21 โดยหากมีการใช้เทคโนโลยีที่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำ มีเทคนิคในการตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ควบคุมคุณภาพผลผลิต และสร้างมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการได้ง่ายและรวดเร็ว ผลผลิตจึงได้ราคาสูงกว่าฟาร์มทั่วไป
หลายฟาร์มในปัจจุบันเริ่มนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้ในการทำงานแล้ว โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ในการช่วยควบคุมและบริหารฟาร์ม เช่น การใช้ระบบการให้น้ำและปุ๋ยที่แม่นยำ ไม่จำเป็นต้องคาดเดาปริมาณการให้ปุ๋ยอีกต่อไป โดยนำเครื่องมือหรือเซ็นเซอร์มาคอยควบคุมเพื่อวัดค่าอุณหภูมิ ความชื้น สภาพความเป็นกรดด่าง และความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทุกวันนี้อุปกรณ์ไฮเทคที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นในราคาที่จับต้องได้ ถึงแม้ว่านวัตกรรมด้านการเกษตรจะยังคงหายากและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในอนาคตหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนโดยภารัฐ ในอนาคตเทคโนโลยีเกษตรของไทยจะพัฒนาขึ้นไปเปรียบเทียบกับชาติอื่น ๆ ได้อย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine
เครดิตรูปภาพ www.pixabay.com