ในเมื่อขยะอาหาร (Food Waste) ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่ไม่ควรถูกทิ้งลงทั้งขยะ เพียงเพราะจำหน่ายไม่หมดในแต่ละวัน ทั้งๆ ที่มันยังรับประทานได้ อาหารส่วนเกินนี้จึงไม่ควรกลายสภาพเป็นของเสีย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Too Good To Go สตาร์ทอัพดาวรุ่งจากเดนมาร์ก เลือกที่จะทำธุรกิจที่สอดรับกับเทรนด์รักษ์โลก ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มให้บรรดาร้านอาหารต่างๆ นำอาหารส่วนเกินมาจำหน่ายแบบลดราคา แทนที่จะทิ้งไป ทำให้ร้านอาหารมีรายได้เพิ่ม ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ดีในราคาที่ถูกลง ขณะเดียวกันก็ช่วยโลกลดภาระในการรับมือกับปัญหาขยะอาหารลงไปด้วย
บริษัท Too Good To Go ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อลดขยะอาหารโดยการสร้างตลาดสำหรับร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และกลุ่มโรงแรม เพื่อจำหน่ายอาหารที่จะทิ้งไปในแต่ละวัน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทฯ ระบุว่า ในแต่ละวินาที 40% ของอาหารที่กินได้ในสหรัฐอเมริกาสูญเปล่า ซึ่งเป็นปริมาณที่เทียบเท่ารถ SUV ขนาดกลาง ซึ่งขยะอาหารเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 10% และคิดเป็นมูลค่าอาหารมากถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 40.25 ล้านล้านบาท) กล่าวอีกนัยหนึ่งถ้าเศษอาหารเป็นประเทศก็จะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่เป็นอันดับสาม
Too Good To Go ช่วยให้ผู้คนต่อสู้กับเศษอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละวันในชุมชนท้องถิ่นของพวกเขา โดยเชื่อมโยงพวกเขากับร้านอาหารและร้านขายของชำต่างๆ ด้วยอาหารส่วนเกินผ่านแอปฯ
เมื่อลงทะเบียนแล้ว ผู้ใช้สามารถเลือกซื้ออาหารต่างๆ เช่น ซูชิ หรือวัตถุดิบ เช่น แอปเปิลและอะโวคาโดได้จากร้านโปรดในท้องถิ่นในราคาเพียงแค่ 1 ใน 3 ของราคาปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะกำหนดเวลารับในช่วงใกล้ที่จะปิดร้าน สิ่งที่ Too Good To Go นำเสนอนี้คือวิธีการแบบ win-win-win ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับอาหารที่ดี เจ้าของร้านไม่ทิ้งอาหารส่วนเกินทั้งๆ ที่มันยังรับประทานได้และขายได้อีกต่อไป และที่สำคัญยังช่วยโลกด้วยการลดของเสียจากขยะอาหารอีกด้วย
แอปฯ Too Good To Go ดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Google Play เพื่อเชื่อมโยงผู้บริโภคกับสินค้าอาหารส่วนเกินในพื้นที่ของตน จากนั้นพวกเขาจะสามารถรับสิ่งที่บริษัทฯเรียกว่า “ถุงเซอร์ไพรส์” (Surprise Bag) ของอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านที่สั่งได้ในราคาประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 167.5 บาท (Too Good To Go จะได้รับค่าคอมมิชชั่นในส่วนนี้ 1.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 60 บาท ส่วนที่เหลือจะเป็นของธุรกิจต่างๆ)
เหตุที่ต้องเรียกว่า Surprise Bag เพราะ ผู้บริโภคไม่รู้ว่าจะได้อะไร ทราบแต่เพียงว่าอาหารจากร้านนั้นยังคงรับประทานได้และมีมูลค่าเพียง 1 ใน 3 ของราคาขายปลีกเท่านั้น
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ 90% ของอาหารที่จำหน่ายผ่านแอปฯ นี้ ขายได้ภายใน 5 ชั่วโมง และกลายเป็นแอปฯ แจ้งเกิดให้กับร้านเล็กร้านน้อยหลายร้านในชุมชนไปโดยปริยาย
โดยร้านอาหารต่างๆ สามารถจำหน่ายสินค้าของตนในแอปฯ นี้ได้ด้วยขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก และไม่มีข้อผูกมัด ไม่มีการติดฉลากใดๆ เพียงบรรจุสินค้าที่ยังไม่ได้ขายลงใน Surprise Bag ของ Too Good To Go ทั้งยังสามารถหาปริมาณอาหารส่วนเกินที่จะต้องทิ้งไปเพื่อปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา นั้นหมายความว่าร้านอาหารต่างๆ สามารถทำ Surprise Bag จำนวนเท่าไหร่ก็ได้ตามต้องการ โดยอิงจากอาหารส่วนเกินในแต่ละวัน
ปัจจุบันแอปฯ นี้มีพันธมิตรที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ กว่า 145,000 ราย มียอดดาวน์โหลด 54.6 ล้านครั้ง และช่วยประหยัดอาหารได้มากกว่า 127 ล้านมื้อจากการทิ้งขยะ ปัจจุบันมีให้บริการในเดนมาร์ก อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ ออสเตรีย เดนมาร์ก สวีเดน เบลเยี่ยม โปแลนด์ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยในสหรัฐอเมริกา Too Good To Go มีพันธมิตรประมาณ 6,000 กว่าราย รวมทั้งกลุ่มโรงแรมเรดิสัน ที่เข้าร่วมให้บริการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2022/04/05/too-good-to-go-startup-food-waste/