รัฐเปย์หนัก หนุนให้พ่อแม่จีนมีลูกมากถึง 3 คนหลังเด็กเกิดใหม่ลดต่อเนื่อง

Share

Loading

เมื่ออัตราประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว ทำให้ในหลายๆ ประเทศเริ่มมีการกำหนดนโยบายออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ปลายเดือนพฤษภาคม สภาบริหารนครหางโจว เมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียงในประเทศจีน ออกนโยบายพิเศษเพื่อหวังเป็นแรงกระตุ้นและดึงดูดใจให้ผู้คนมีลูกเพิ่มขึ้น หลังจากพบว่ามณฑลส่วนใหญ่กำลังประสบกับปัญหาจำนวนประชาชนลดน้อยลง

นโยบายดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าครอบครัวที่มีลูก 3 คนเท่านั้นถึงจะได้รับอนุญาตให้ ‘ซื้อบ้าน’ เพิ่มอีก 1 หลัง นับเป็นการเพิ่มจากจำนวนที่ทางการจำกัดในปัจจุบัน อีกทั้งครอบครัวเหล่านี้จะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับสิทธิซื้อบ้านเพิ่มผ่านการจับสลากของทางรัฐ

ทั้งนี้ หางโจวไม่ใช่ที่แรกของจีนที่มอบสิทธิพิเศษให้ครอบครัวที่มีลูกหลายคน เพราะก่อนหน้านี้ที่หนานจิง ในมณฑลเจียงซู, ตงกวน ในมณฑลกวางตุ้ง และเสิ่นหยาง ในมณฑลเหลียวหนิงก็มีนโยบายกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนประชากรในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ที่เมืองโจวซานในมณฑลเจ้อเจียงก็ยัง ‘เพิ่มวงเงินสินเชื่อซื้อบ้าน’ แก่ครอบครัวที่มีลูกเพิ่มขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์จากอัตราสูงสุดในปัจจุบัน และเมืองจิงเต๋อเจิ้น ในมณฑลเจียงซี ‘แจกเงินอุดหนุนซื้อบ้าน’ จำนวน 200 หยวน (หรือประมาณ 1,024 บาท) ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตรแก่ครอบครัวที่มีลูก 2 คน ขณะที่ครอบครัวที่มีลูก 3 คน จะได้รับเงินมากที่สุด คือ 300 หยวน (หรือประมาณ 1,536 บาท) ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร

นโยบายสนับสนุนการซื้อบ้านอาจช่วยคลายความกังวลของครอบครัวที่ต้องการมีบุตรเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกำลังหาทางเพิ่มจำนวนประชากรเด็กแรกเกิด ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาจีนมีจำนวนประชากรทารกแรกเกิดลดลงเหลือเพียง 10.6 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราการเกิดต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1949

และในปีเดียวกันนั้นยังมีอัตราการเพิ่มของประชากรตามธรรมชาติติดลบในอย่างน้อย 11 มณฑล โดยมณฑลเจียงซูมีอัตราการเพิ่มของประชากรตามธรรมชาติติดลบเป็นครั้งแรกนับจากปี 1949 ส่วนมณฑลเหยหลงเจียง มณฑลเหลียวหนิง และมณฑลจี๋หลินมีอัตราการเพิ่มของประชากรตามธรรมชาติติดลบอย่างต่อเนื่อง

ด้าน เฉิน เหวินจิง (Chen Wenjing) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดของสถาบันดัชนีจีน (China Index Academy) กล่าวว่า นอกเหนือจากการผ่อนปรนข้อจำกัดในการซื้อบ้านแล้ว นโยบายพิเศษเหล่านี้ยังมีการชำระเงินดาวน์ที่ต่ำลง รวมถึงเงินอุดหนุน และวงเงินในการกู้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประชากรใหม่อีกด้วย

ส่วน หลี่ อี้เจีย (Li Yujia) หัวหน้านักวิจัยของศูนย์วิจัยนโยบายการเคหะ ในมณฑลกวางตุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายเหล่านี้จะตอบสนองความต้องการของบางครอบครัวที่อยากได้บ้านหลังใหญ่ เมื่อพวกเขามีลูกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศก็มีวิธีการจูงใจที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายให้พ่อและแม่ลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตร จัดสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กฟรี กระทั่งให้สิทธิจ้างงานเพิ่ม แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าวิธีการใดจะได้ผลลัพธ์ดีที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3350035181988677/