อุตสาหกรรมของพลังงานหมุนเวียนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แค่ในทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 10% ในปี 2553 เป็น 20% ในปี 2563 และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นในปี 2565 เนื่องจากความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และความต้องการพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น
จากรายงาน 2022 Renewable Energy Industry Outlook ของ Deloitte ที่ได้ทำการสำรวจผู้นำและผู้บริหารกว่า 500 รายในสหรัฐฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี, วิศวกรรมและการก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, น้ำมันและก๊าซ และพลังงานและสาธารณูปโภค
สามารถสรุปเป็นแนวโน้มของพลังงานหมุนเวียนได้ 5 แนวโน้ม ในปี 2565 ดังนี้
– เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดที่ทันสมัย กำลังได้รับความสนใจ
เทคโนโลยีด้านพลังงานกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุน เช่น พลังงานลม และพลังงงานแสงอาทิตย์ที่สามารถจัดเก็บใน Electric Grid ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ Green Hydrogen แบตเตอรี่ชั้นสูง และการเก็บพลังงานแบบระยะยาวในรูปแบบต่าง ๆ อาจได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการลงทุนนี้เพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป รวมถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยด้าน Zero-carbon Electricity การจัดเก็บพลังงานระยะยาวเพื่อป้องการการขาดแคลนในบางฤดูกาล ลดความแออัดกับสายส่งพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มความน่าเชื่อถือในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
– พลังงานแสงอาทิตย์กับโมเดลธุรกิจใหม่
Solar Photovoltaic (PV) Systems หรือ Solar Cells ได้เป็นที่นิยมมากขึ้น ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 85% จึงเป็นไปได้ว่าจะมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์นี้มาใช้ในโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งการติดตั้งแบบใหม่
โดยในปี 2565 นี้เราอาจได้เห็น Solar-plus-storage หรือ Floating Solar PV เพิ่มขึ้น ซึ่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการกักเก็บพลังงาน จะช่วยเรื่องประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการควบคุมต้นทุนอีกด้วย
– โครงสร้างพื้นฐานในการส่งไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ Offshore Wind
การพัฒนาการส่งไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 นี้ การส่งไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยหลักที่เชื่อมต่อพลังงานหมุนเวียนสู่แหล่งไฟฟ้าเพื่อการบริโภคใช้สอยต่าง ๆ
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องลดข้อจำกัดในการส่งให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore Wind) ที่ต้องเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานชายฝั่ง (Coastal Infrastructure) ก็ควรมีการส่งไฟฟ้าและเข้าถึงที่สะดวก
ทั้งนี้การเพิ่มกำลังการส่งจากเส้นทางปัจจุบัน หรือการเพิ่มเส้นทางใหม่ อาจช่วยลดปัญหาข้อจำกัดในการส่งได้ นอกจากนี้จากรายงานการสำรวจของ Deloitte พบว่า 76% ของผู้ตอบแบบสอบถามในอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค กำลังวางแผนหรือมีแผนที่จะดำเนินการด้านพลังงานหมุนเวียน โดยจะคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนจากโครงการส่งไฟฟ้าต่าง ๆ เป็นสำคัญ
– การพัฒนากลยุทธ์ทางห่วงโซ่อุปทาน
อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนมีความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง
ในปี 2564 อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนส่วนประกอบ (Semiconductors และ Modules), วัตถุดิบ (Polysilicon และสินค้าโภคภัณฑ์) และแรงงานตลอดจนค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้ราคาพลังงานแสงอาทิตย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนกระแสเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
– พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย
แม้ว่าปัจจุบันเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าส่วนมาก จะมาจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน (รวมลิกไนต์)
ในปี 2564 นี้ได้มีสัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ที่ประมาณ 10% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีสัดส่วนอยู่ 2%
และในพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าใน 12 เดือนแรกของปี 2564 นี้ยังประกอบไปด้วยพลังงานจากชีวมวล 33% และพลังงานแสงอาทิตย์ 25%
เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ซึ่งพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 10,193 เมกะวัตต์ ในแผนพีดีพี 2565 หรือเพิ่มจากแผนเดิม (พีดีพี 2561 rev. 1) จำนวน 1,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทในไทยต่างมีรายได้จากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นด้วย เช่น WHAUP มีรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 58.5 ล้านบาท ในปี 2563 เป็น 254.6 ล้านบาท ในปี 2564
เช่นเดียวกับ GUNKUL ที่มีรายได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบกับปี 2563
แนวโน้มของพลังงานหมุนเวียน อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้น ผู้นำในทุกภาคส่วน จึงต้องจับตามองเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมที่สุด
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/MarketThinkTH/posts/4989960811096270/