ฟิลเตอร์เปลี่ยนหน้าโดนแบน! หลังโดนฟ้องละเมิดความเป็นส่วนตัวจากผู้ใช้

Share

Loading

คงไม่มีใครที่ใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันไม่รู้จัก ‘ฟิลเตอร์’ ฟีเจอร์ยอดฮิตของอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ค ที่ใช้เทคโนโลยี AR ตรวจจับใบหน้าเพื่อเปลี่ยนใบหน้าเราให้มีความสวยงาม หรือมีลูกเล่นสนุกสนานมากขึ้น

แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อวันหนึ่งฟิลเตอร์ที่เราชอบใช้หายวับไปชั่วข้ามคืนด้วยเหตุผลว่ามันอาจ ‘ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว’ และนี่คือสิ่งที่ชาวเท็กซัสและอิลลินอยส์ในสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญ

‘เมตา’ (Meta) บริษัทแม่ของแอพพลิเคชั่นอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ค ต้องงานเข้า เมื่อ ‘เคน แพ็กซ์ตัน’ (Ken Paxton) อัยการสูงสุดของศาลเท็กซัสสั่งฟ้องโดยกล่าวหาว่าแนวทางปฏิบัติของบริษัท รวมถึงคุณสมบัติบางอย่างของฟิลเตอร์ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของชาวเท็กซัส เมตาจึงต้องจำกัดการใช้งานฟิลเตอร์ใบหน้าจำนวนมากที่มีการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ซึ่งมีการใช้เซนเซอร์ตรวจจับภาพใบหน้าบุคคล เป็นเวลา 2 เดือนในวันพุธที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ข้อกล่าวหาและการปฏิเสธของเมตา

ในการฟ้องร้องดังกล่าว อัยการสูงสุดระบุว่า เมตาละเมิดกฎหมายของรัฐเท็กซัสที่ห้ามไม่ให้มีการรวบรวมลักษณะทางสรีรวิทยา เช่น ลายนิ้วมือ ดวงตา รวมถึงรูปลักษณะใบหน้า ซึ่งคดีนี้เมตาอาจต้องได้รับบทลงโทษทางแพ่งเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์ และยังบอกด้วยว่าเมตามีแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่หลอกลวง

อัยการสูงสุดยังกล่าวอีกว่า เมตาใช้ข้อมูลที่ได้จากฟิลเตอร์อินสตาแกรมและเฟซบุ๊คเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับซอฟต์แวร์ติดตามใบหน้า ซึ่งทางด้านเมตาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

“เทคโนโลยีที่เราใช้กับเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR) ในฟีเจอร์อวาตาร์ส (Avatars) หรือฟิลเตอร์ต่างๆ ไม่ได้เป็นระบบการจดจำใบหน้า หรือเป็นเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามที่ผิดกฎหมายรัฐเท็กซัสและอิลลินอยส์ และมันไม่ได้ถูกใช้เพื่อระบุตัวใครทั้งนั้น” เมตาระบุในแถลงการณ์สำหรับการต่อสู้ในชั้นศาลที่ยังคงดำเนินต่อไป

ที่ผ่านมาเมตาเคยออกแถลงการณ์ว่าทางบริษัทหยุดการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า (Face recognition) ไปตั้งแต่เมื่อปี 2021 และมีแผนจะลบข้อมูลใบหน้าของผู้ใช้มากกว่า 1,000 ล้านบัญชีทิ้ง การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission: FTC) ปรับเมตาเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ฐานละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค

ฟ้องฐานโจรกรรมใบหน้าในรัฐอิลลินอยส์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีคดีที่คล้ายคลึงเกี่ยวกับฟิลเตอร์กับความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ในรัฐอิลลินอยส์ หลังบริษัทสตาร์ทอัพ ‘เคลียร์วิว’ (AI Clearview) ถูกฟ้องร้องจากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union: ACLU) และตกลงที่จะจำกัดฐานข้อมูลใบหน้าในสหรัฐฯ ไว้ที่หน่วยงานของรัฐเป็นหลัก ทั้งยังไม่อนุญาตให้บริษัทอเมริกันส่วนใหญ่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งยื่นต่อศาลของรัฐอิลลินอยส์ เคลียร์วิวตกลงจะไม่ขายฐานข้อมูลของภาพถ่ายใบหน้ามากกว่า 20,000 ล้านภาพ ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งและธุรกิจส่วนตัวในประเทศ แต่บริษัทยังคงสามารถขายฐานข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานของรัฐบาลกลางและหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้

เคลียร์วิวคือบริษัทที่สร้างซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าด้วยการขุดรูปภาพจากเว็บไซต์ยอดนิยม เช่น เฟซบุ๊ค, ลิงค์อิน และอินสตาแกรม จากนั้นบริษัท ก็ขายซอฟต์แวร์ของตนให้กับหน่วยงานตำรวจในท้องที่ หน่วยงานของรัฐ เอฟบีไอ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงศุลกากรด้วย

เทคโนโลยีดังกล่าวนั้นผิดกฎหมายในแคนาดา ออสเตรเลีย รวมถึงบางส่วนในทวีปยุโรป เนื่องจากมันละเมิดกฎหมายเทคโนโลยีความเป็นส่วนตัว ซึ่งเคลียร์วิวต้องจ่ายค่าปรับชั่วคราวจำนวนกว่า 22 ล้านดอลลาร์ ในอังกฤษ รวมถึงโดนปรับกว่า 20 ล้านยูโร จากหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของประเทศอิตาลี

เทคโนโลยีช่วยชีวิตเราให้สะดวกสบายและสนุกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็สามารถเป็น ‘ดาบสองคม’ ได้เช่นกัน คดีความที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหมือนการเตือนบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายให้เคารพสิทธิผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้เราหันมาฉุกคิดและใส่ใจกับความเป็นส่วนตัวในโลกเทคโนโลยีมากขึ้น

แม้คดีฟ้องร้องจะยังไม่เกิดขึ้นในไทย แต่กรณีตัวอย่างจากแดนไกลคงทำให้ใครที่ชอบใช้ฟิลเตอร์น่ารักๆ ได้ระแวดระวังกันมากขึ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/posts/3338173449841517/