ธุรกิจโลกถูกบังคับให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บวกภาษีสินค้าปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Share

Loading

การปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้วสมัครใจช่วยกันทำให้โลกดีขึ้น ดูเหมือนจะไม่ได้ผล แต่การบังคับภาคธุรกิจจะส่งผลที่เป็นรูปธรรมมากกว่า

สหภาพยุโรป หรือ อียู กำลังให้ความจริงจังกับแนวคิด Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หมายถึงการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าอียู โดยพิจารณาถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย กำหนดให้ปี 2023 – 2025 เป็นระยะเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะเก็บภาษีอย่างเป็นทางการในปี 2026 ตามปริมาณการปล่อยก๊าซฯจากการผลิต

สินค้าส่งออกของไทยไปอียู ก็จะได้รับผลกระทบจาก CBAM โดนภาษีคาร์บอนทำให้ต้นทุนค่าสินค้าของผู้ซื้อปลายทางมีต้นทุนสูงขึ้น และจะเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน

ตลาดใหญ่ของโลกอย่าง อเมริกา จีน ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับอียู

องค์กรธุรกิจจำนวนมากยังคงสร้างก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจากการผลิตสินค้า การเปลี่ยนผ่านปรับตัวเพื่อทำให้เขียวขึ้นด้วยตัวเองทั้งหมดต้องใช้เวลานาน อาจทำได้ยาก แต่การสร้าง Carbon Neutral หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนอาจทำได้เร็วกว่า

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจำนวนมาก มีความใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น การใช้พลังงานทดแทนเป็นหลักเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด

Apple สัญญาว่าจะกลายเป็น Carbon Neutral ทั้งซัพพลายเชนและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2030

Amazon ในซีแอตเทิลต้องการเป็น 100% Climate-Friendly ภายในปี 2030

Microsoft ภายในปี 2025 มีเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษจากการดำเนินการโดยตรงให้ใกล้กับศูนย์ โดยการใช้พลังงานทดแทน 100% และสัญญาว่าภายในปี 2030 ซัพพลายเชนทั้งหมดจะลดการปล่อยมลพิษอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50%

Ant Group เทคยักษ์ใหญ่จากจีน เมื่อวันที่ 28-04-2022 ประกาศว่าได้บรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจนเป็นศูนย์ด้วยเทคโนโลยี Green Computing และลดการปล่อยก๊าซทางอ้อม

แนวทางที่องค์กรธุรกิจต่างๆ สามารถทำได้เพื่อการเป็น Carbon Neutral คือ

– การลดการปล่อยก๊าซ CO2 ด้วยการประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

– การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้พลังงานฟอสซิล

– การซื้อคาร์บอนเครดิต หรือ CCER เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน

องค์กรธุรกิจที่ต้องค้าขายระหว่างประเทศ การตระหนักหรือใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมแบบลอยๆ คงไม่เพียงพอ ต้องลงมือทำจริงจังตั้งแต่วันนี้

การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลก กลายเป็นภาคบังคับเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว….

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/turakij4.0/posts/2221891594635517/