สำหรับอุบัติเหตุทางท้องถนนถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยมากในสังคมเมือง ซึ่งหากคู่กรณีสามารถประนีประนอมยอมความกันได้ เรื่องราวก็จบลงได้โดยไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ถ้าเป็นกรณีที่เรื่องไม่อาจจะหาข้อยุติได้โดยง่าย เช่น ชนแล้วหนีไป เมื่อเราไปแจ้งตำรวจ ก็จะมีการลงบันทึกประจำวันเอาไว้เป็นอันดับแรก แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะแนะนำให้ไปติดต่อขอดู “กล้องวงจรปิด (CCTV)” เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม เช่น ทะเบียนรถที่ชน เพื่อนำไปประกอบการดำเนินคดีต่อไป
ซึ่งการนำข้อมูลในกล้องวงจรปิดไปใช้ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาลนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีการบัญญัติไว้ในมาตรา 241 ที่ระบุว่า “สิ่งใดใช้เป็นพยานวัตถุต้องนำมาศาลในกรณีที่นำมาไม่ได้ ให้ศาลไปตรวจจดรายงานยังที่ที่พยานวัตถุนั้นอยู่ตามเวลาและวิธีซึ่งศาลเห็นสมควรตามลักษณะแห่งพยานวัตถุ”
รวมทั้งในตรา 242 ระบุว่า “ในระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา สิ่งของซึ่งเป็นพยานวัตถุต้องให้คู่ความหรือพยานตรวจดูถ้ามีการแก้ห่อหรือทำลายตรา การห่อหรือตีตราใหม่ให้ทำต่อหน้าคู่ความหรือพยานที่เกี่ยวข้องนั้น”
ดังนั้นก่อนที่จะถึงขั้นตอนของการฟ้องร้องคดีความในชั้นศาล จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสืบหาเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพหลักฐานจากกล้องวงจรปิด โดยสามารถเข้าไปติดต่อเพื่อขอข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดได้ที่หน่วยงานราชการ 2 แห่ง ดังนี้
1.กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.)
โดยสามารถมาตรวจสอบเหตุดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองที่ บก.จร. ในวันและเวลาราชการโดยไม่ต้องนัดหมายเวลาล่วงหน้า
แต่อย่างไรก็ตาม จุดที่เกิดเหตุจะต้องเป็นจุดที่มี กล้องวงจรปิด (CCTV) ของหน่วยงานติดตั้งอยู่ และสามารถจับภาพไว้ได้โดยมีรายละเอียดชัดเจน และหากมีข้อสงสัยในจุดติดตั้ง กล้องวงจรปิด (CCTV) ของ บก.จร. ที่อาจเป็นจุดเกิดเหตุ รวมถึงการเดินทางมายัง บก.จร. สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่เบอร์ 1197
กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) www.trafficpolice.go.th
2.กรุงเทพมหานคร (กทม.)
สำหรับ กล้องวงจรปิด (CCTV) ของกรุงเทพมหานครนั้น ประชาชนก็สามารถที่จะขอดูภาพได้ด้วยเช่นกัน โดยมี 4 ขั้นตอนดังนี้
1. ในเบื้องต้นหากประชาชนมีข้อสงสัยต้องการดูภาพจาก กล้องวงจรปิด (CCTV) สามารถติดต่อขอดูภาพที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ได้เลย
2. หากประชาชนต้องการข้อมูลของเหตุการณ์ ให้แจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ประจำห้อง กล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้รายละเอียดของภาพ เช่น วัน เวลา สถานที่ และหมายเลขของภาพให้กับผู้ประสงค์ขอข้อมูล
3. ประชาชนจะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ณ พื้นที่เกิดเหตุ โดยนำรายละเอียดข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ประจำห้อง กล้องวงจรปิด (CCTV) ไปให้กับสถานีตำรวจ เพื่อสถานีตำรวจจะได้ทำหนังสือราชการระบุรายละเอียดเหตุการณ์ตามที่ได้แจ้งความ และรายละเอียดของภาพจาก กล้องวงจรปิด (CCTV) ปิดตามที่เจ้าหน้าที่ประจำห้อง กล้องวงจรปิด (CCTV) ให้มา
4. หลังจากได้ใบแจ้งความและหนังสือจากสถานีตำรวจแล้ว ให้ประชาชนนำเอกสารใบแจ้งความและหนังสือจากสถานีตำรวจ มาขอรับข้อมูลภาพจากห้อง กล้องวงจรปิด (CCTV) โดยปกติเจ้าหน้าที่จะทำการสำเนาข้อมูลใส่แผ่น DVD ให้
สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส) www.bmatraffic.com
ซึ่งนอกจากหน่วยงานราชการดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันบรรดาห้างร้านผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มักจะติดตั้ง กล้องวงจรปิด (CCTV) โดยหันกล้องออกมาที่หน้าร้าน ซึ่งเราอาจจะไปขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เหล่านี้ด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของกล้องด้วย
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
Security Systems Magazine
www.cctvbangkok.com