ทุกวันนี้ท่ามกลางกระแสเห่อการพัฒนา AI และการเข้าถึงทั้งคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลที่จะนำไปพัฒนา AI นับว่ากำลังสนุกสนานกันเลยกับการพัฒนา AI ให้ทำอะไรแปลกๆ ยิ่งไอเดียบรรเจิดไปไกลกว่าที่เคยจินตนาการไว้ ก็ยิ่งน่าสนใจสุดๆ
ทีนี้เรื่องมีอยู่ว่านักศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่เอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology: MIT) เขาทดลองว่า AI สามารถรู้เชื้อชาติของคนได้หรือไม่ ถ้าเราป้อนข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติต่างๆ เข้าไป
ผลที่ออกมาเรียกว่าประหลาดสุดๆ เพราะเขาพบว่าสิ่งที่จะนำไปสู่การระบุเชื้อชาติได้ กลับเป็น ‘ผลเอกซเรย์’ เสียอย่างนั้น นักศึกษากลุ่มนี้จึงนำผลการทำลองไปให้อาจารย์ดู อาจารย์ก็งงว่ามันเป็นไปได้ยังไง เพราะสายตามนุษย์นั้นไม่สามารถแยกแยะเชื้อชาติคนผ่านผลการเอกซเรย์ได้แน่ๆ
แต่พอไปทดลองต่อก็พบว่ามันจริง และ AI มันเดาได้แม่นยำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยผลการทดลองนี้ตีพิมพ์ใน The Lancet Digital Health เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 โดยอาจารย์ไปทดลองต่อเพื่อความชัวร์ยิ่งขึ้นแล้วก็พบว่า ข้อมูลสุขภาพต่างๆ มันไม่สามารถย้อนไประบุเชื้อชาติของคนได้ มีแต่ผลการเอกซเรย์นี่แหละที่ทำได้
สมมุติฐานก็คือ AI อาจมองเห็น ‘เม็ดสี’ ที่อยู่ในผลเอกซเรย์ ซึ่งนี่เป็นรายละเอียดที่ซับซ้อนมากๆ ว่าทำไมสายตามนุษย์มองไม่เห็น แต่ AI สามารถตรวจจับได้ แต่นี่ก็เป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น อย่างไรก็ตามผลวิจัยนี้มัน ‘ช็อก’ วงการแพทย์มากๆ
แล้วมันช็อกยังไง? คือข้อมูลทางการแพทย์ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ที่เป็นความลับสุดๆ แต่ถ้าเก็บเอาข้อมูลนี้ไว้เฉยๆ มันก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เขาจึงต้องเอามาวิจัย ซึ่งวิธีการ ‘รักษาความเป็นส่วนตัว’ ของข้อมูลก็คือ เขาจะดึงหลายๆ ส่วนของข้อมูลออกไปให้มันนิรนาม โดยหลักๆ ก็คือ ชื่อ ที่อยู่ รวมถึงเพศและเชื้อชาติด้วย
การที่ AI สามารถบอกเชื้อชาติได้จากผลเอกซเรย์ ทำให้เราไม่สามารถทำข้อมูลเชื้อชาติให้นิรนามได้อีกต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการข้อมูลในอนาคตอย่างแน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ AI ‘มองเห็นเชื้อชาติ’ ของคนได้จากผลเอกซเรย์ ยังเปิดความเป็นไปได้ของอคติในการวินิจฉัยโรค หรืออะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด (เพราะถ้าให้หมอกระดูกดูผลเอกซเรย์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องรู้ถึงเชื้อชาติ หรือข้อมูลใดๆ ที่จะทำให้การวินิจฉัยโรคมีอคติได้)
แต่ความกังวลเหล่านี้ก็อาจมาจากฝั่งวิศวกรที่พัฒนา AI เท่านั้น ฝั่งหมอในอเมริกาถ้าใครเคยอ่านตำราแพทย์มาบ้าง ก็จะรู้เลยว่า ‘เชื้อชาติ’ คือปัจจัยหนึ่งที่ต้องเอามารวมในการวินิจฉัยหลายๆ โรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อหรือโรคที่มีผลจากพันธุกรรม ถ้าไปดูไกด์ไลน์ก็จะเห็นเลยว่าการสั่งยาให้แต่ละเชื้อชาตินั้นไม่เหมือนกัน และนี่ไม่ใช่การ ‘เหยียดผิว’ แต่เป็นการตัดสินใจตามสถิติที่มีออกมาผ่านผลวิจัย และนั่นก็เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง
ตัวอย่างเช่น มันจะมีสถิติชัดเจนเลยว่าคนดำจะแพ้ยาบางกลุ่ม หรือรับผลข้างเคียงมากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งถ้าคนไข้เป็นคนดำ หมอก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับรู้และเลี่ยงสั่งยาตัวอื่นให้ เป็นต้น
ดังนั้น ความกังวลว่า AI รู้เชื้อชาติแล้วมันจะเป็น ‘อคติ’ ก็อาจเป็นการ ‘คิดมากไป’ เพราะในทางการแพทย์ มนุษย์นั้นไม่ได้เหมือนกันหมดอยู่แล้ว และการรักษาตามเชื้อชาติคือเรื่องปกติของหลายๆ โรค ซึ่งมีเขียนในพวกตำราพื้นฐานทางการแพทย์ของฝั่งอเมริกาด้วยซ้ำ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เท่านั้นเอง
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3356558771336318/