เข้าใจพร้อมปรับใช้ หลักการ EPR ทางรอดของธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดการขยะบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร

Share

Loading

การลดขยะพลาสติกในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่กลายเป็นเทรนด์ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อพิชิตเป้าหมายนี้ ลดปริมาณขยะพลาสติกลงให้ได้มากที่สุด โดยใช้เครื่องมือหรือแนวทางที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ หลักการ EPR หรือ Extended Producer Responsibility ซึ่งเป็นหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด

โดยเมื่อ 16 ธันวาคม 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม  ประกาศจัดทำ MOU ร่วมกับ 50 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการผลิตและการบริโภคสินค้า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวมขยะ และโรงงานรีไซเคิลที่จะมาทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เทศบาล 3 แห่งในจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่นำร่องนำ “Extended Producer Responsibility: EPR” หรือ หลักการ “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” มาปรับใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์โมเดล BCG Economy ซึ่งถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงส่งให้ จังหวัดชลบุรีเป็นต้นแบบของ EPR ในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในสามจังหวัด ในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พัฒนาไปสู่พื้นที่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกรีนอีโคโนมีอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ยังได้เกิดโครงการ “PackBack Project…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะทดลองใช้เครื่องมือ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทต่างๆ ทั้งแก้ว กระดาษ พลาสติก กระป๋องอลูมิเนียมและกล่องเครื่องดื่ม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนด้วย

มาในวันนี้ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจตามหลักการ EPR กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ร่วมกับ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIPMSE จัดสัมมนา “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยภายในงานได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อมาให้ความรู้รอบด้านว่า EPR มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจยุคนี้อย่างไรบ้าง

ประกาศความตั้งใจเดียวกัน รัฐ-เอกชน ใช้ หลักการ EPR ขับเคลื่อนธุรกิจ ก้าวสู่ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ อย่างยั่งยืน

ในการเปิดงานสัมมนาครั้งนี้ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้กล่าวเปิด พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ภาคธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเอา หลักการ EPR มาใช้ในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำว่า

“ที่ผ่านมา ทางกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันในการจัดทำนโยบาย EPR ที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะจากขยะบรรจุภัณฑ์”

“โดยทางกรมควบคุมมลพิษพร้อมที่จะสนับสนุน หลักการ EPR ในฐานะ หนึ่งในกลไกทที่นำไปสู่การขับเคลื่อน Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย และตอนนี้โจทย์สำคัญ คือ การทำให้เกิดอีโคซิสเตม หรือ ความคุ้มค่าในด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนได้จริงๆ ทั้งผู้ผลิตสินค้า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่ไม่ได้ต้องมาแบกรับในเรื่องการปฏิบัติตามหลัก EPR มากเกินไป และยังต้องคิดถึงความคุ้มค่าของผู้ที่มาทำหน้าที่นำบรรจุภัณฑ์นั้นไปจัดการ อย่างซาเล้งรับซื้อของเก่า หรือร้านขายของเก่า ขวดพลาสติก กระป๋อง เป็นต้น สุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ ประโยชน์ที่วนกลับมายังผู้บริโภคที่เป็นประชาชน ถ้าวงจรที่กล่าวมานี้ มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้รับ “ความคุ้มค่า” วงจรของ เศรษฐกิจหมุนเวียน ก็ถือว่าเกิดขึ้นไม่ได้จริง”

“อย่างไรก็ตามการนำ หลักการ EPR ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาขยะโดยเฉพาะพลาสติกยังคงเป็นความสมัครใจ ซึ่งระยะต่อไป ทาง คพ. กำลังพิจารณาที่จะยกร่างเป็นกฎระเบียบ หรือกฎหมายให้เกิดการบังคับใช้ในอนาคต เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น”

ด้าน โฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ได้มากล่าวในฐานะตัวแทนของภาคเอกชนกับความตั้งใจในการนำหลัก EPR มาปรับใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ว่า

“การที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการจัดการบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะเอื้อต่อกทำธุรกิจของภาคเอกชนและขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยภาคเอกชนที่มารวมตัวกัน เรามีความตั้งใจที่จะตอบรับนโยบาย เศรษฐกิจ BCG และ เศรษฐกิจหมุนเวียนของทางภาครัฐ และกว้างไปกว่านั้น ทุกธุรกิจตั้งใจที่จะตอบโจทย์ของโลก ของการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลก ตามแนวทาง SDG Goals อย่างยั่งยืน”

“โดยการแสดงความรับผิดชอบนี้ ต้องคำนึงถึงตั้งในในห่วงโซ่คุณค่าของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ในแง่ของการผลิต การออกแบบ การกระจาย การจัดจำหน่ายและการเก็บกลับ ซึ่งถ้าทำได้ ย่อมตอบโจทย์ในเรื่องการรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมที่เราอยู่ด้วย โดยในวันนี้ ภาคเอกชน ก็มีบทบาทในการเร่งสร้างความตระหนักในผลกระทบที่เกิดจากการจัดการบรรจุภัณฑ์ หรือ ขยะบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ถูกวิธี ว่าก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร แล้วสร้างการรับรู้ สื่อสาร ไปยังผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความตระหนักในทิศทางเดียวกัน ว่าจะจัดการกับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคอย่างไร ด้วยกระบวนการ “เก็บกลับ” ที่ถูกต้องและไม่ทิ้งปัญหาให้กับโลก”

“ที่ผ่านมา มีโครงการนำร่องที่ได้ดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดชลบุรี คือ โครงการ PackBack Project…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีของการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR ที่ดึงการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐ ที่เป็นเครื่องตอกย้ำว่าทางภาคเอกชนเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะคิดและหาความร่วมมือในการบริหารจัดการในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิต และได้ส่งผ่านสินค้าที่มีคุณภาพไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งต้องไม่หยุดแค่นั้น ว่าเมื่อผู้บริโภคได้ใช้สินค้าคุณภาพแล้ว จะมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่จะนำบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่บริโภคแล้วกลับมาใช้ประโยชน์และสร้างเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน”

หลักการ EPR สร้างแต้มต่อให้ธุรกิจไทยในเวทีโลกได้อย่างไร

ต่อมา การเสวนา เริ่มต้นด้วยการบรรยายของ จิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่มาให้ความรู้ว่าในระดับโลก ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่นำ หลักการ EPR ไปปรับใช้อย่างไรบ้าง และสินค้าที่ผลิตตามแนวทาง EPR คือ การรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ทั้งห่วงโซ่คุณค่านั้น มีแต้มต่อในเวทีโลกอย่างไร

“มาตรการด้านบรรจุภัณฑ์ในต่างประเทศ มีข้อกำหนดชัดเจนว่า สินค้าของประเทศต่างๆที่นำเข้ามาในประเทศของเขา ต้องผลิตด้วยวัสดุอะไร และจะไปส่งเสริมในเรื่องของการนำไปรียูส หรือ รีไซเคิลได้อย่างไร อย่างในกลุ่มสหภาพยุโรปก็จะให้ความสำคัญในการพิจารณาด้านนี้ค่อนข้างมาก”

“โดยเฉพาะในเรื่องของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ทางสหภาพยุโรปให้ความสำคัญค่อนข้างสูง เพราะตั้งเป้าหมายว่า จะเดินสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ด้วยการเป็นผู้นำของโลก กำหนดกฎระเบียบ วางเป้าหมายการจัดการกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อปรับไปสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในปี 2593 โดยมีมาตรการผลักดันมาตรฐานด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนให้ไปถึงเป้าหมายนั้น”

“ทั้งนี้ ในการกำหนดกฎระเบียบด้าน Packaging and Packaging Waste Directive ที่มีขึ้นตั้งแต่ปี 2537 และได้รับการปรับปรุงไปแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง กำหนดชัดเจนว่า บรรจุภัณฑ์นั้นจะต้องใช้สารและวัสดุอันตรายให้น้อยที่สุดในการผลิตบรรจุภัณฑ์ และกำหนดให้บรรจุภัณฑ์นั้นต้องเอากลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำได้โดยไม่เป็นอันตราย ตลอดจนให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่คืนกลับมา หรือ Recoverable Packaging ที่สามารถรีไซเคิลหรือแปรรูปเป็นพลังงานได้ด้วย”

“โดยบรรจุภัณฑ์นั้น ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ขวด บรรจุภัณฑ์พลาสติก กระป๋อง ต่างๆเท่านั้น หากแต่รวมถึงบรรจุภัณฑ์เช่น กระถางต้นไม้ ที่ใช้บรรจุต้นไม้ เมื่อต้นไม้โต ก็ต้องเปลี่ยนและทิ้ง หรือ ไม้แขวนเสื้อที่ขายไปพร้อมกับเสื้อผ้า และ แคปซูลกาแฟด้วย” “และในการปรับปรุงข้อกำหนดทุกครั้ง ก็จะมีความเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง การปรับปรุงครั้งที่ 6 ในปี 2558 ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมด้วยว่าให้สมาชิกทำสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติกด้วยว่า ย่อยสลายได้ และ ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อแยกประเภทบรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติกออกจากถุงพลาสติกแบบอื่น เป็นต้น”

“หรือในการปรับปรุงข้อกำหนดนี้ในครั้งที่ 7 ในปี 2561 ก็ได้เน้นย้ำถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ส่งเสริมให้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล และระบุว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วิธีการย่อยสลายจะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์จากวิธีการย่อยสลายทางชีวภาพที่ไม่รวม Oxo-degradable plastic และภายในสิ้นปี 2024 ประเทศสมาชิกควรโครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility: EPR เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์นั้นด้วย”

“นอกจากนั้น ทาง EU ยังได้กำหนดมาตรการในอนาคตในเรื่องของการจัดการบรรจุภัณฑ์ไว้ชัดเจน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดสหภาพยุโรปสามารถนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งถ้าธุรกิจไทยต้องการขยายตลาดไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ก็จำเป็นต้องปรับแนวทางในการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์มาตรการนี้ ดังนี้

  • การลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์และขยะจากบรรจุภัณฑ์
  • การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การติดฉลากสำหรับคัดแยกขยะ
  • การออกระเบียบสำหรับการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
  • การเพิ่มคุณภาพน้ำจากก๊อกน้ำเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก
  • การห้ามใช้วัสดุบางประเภท โดยเฉพาะเมื่อมีวัสดุทางเลือกอื่นๆ หรือให้สามารถส่งมอบสินค้าให้ผู้บริโภคโดยไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์

ในส่วนของข้อเสนอแนะ คุณจิรัตถ์ แนะนำว่าธุรกิจไทยควรติดตามความคืบหน้าและศึกษากฎระเบียบของ EU ในเรื่องของการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปปรับใช้ในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างจุดขายให้สินค้าได้”

ติดปีกธุรกิจไทย กับบทเรียน การนำ EPR ไปใช้อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

ต่อมา เป็นการเสวนาเรื่อง “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งทำให้ผู้เข้าฟังได้เห็นมิติความจำเป็นของการปรับใช้หลัก EPR กับภาคธุรกิจไทยได้รอบด้านมากขึ้น

โดย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี จาก สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาชี้ให้เห็นว่า การจะปรับใช้แนวทาง EPR ให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำอย่างไร

“EPR ต้องเริ่มต้นมาจากความตระหนักในความรับผิดชอบของผู้ที่มีส่วนได้ประโยชน์จากผู้ที่ใช้บรรจุภัณฑ์นั้นๆ ที่มาทำงานร่วมกันตลอดห่วงโซ่คุณค่าบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ผู้ผลิตวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ใช้แพคเกจจิง ร้านค้าที่ต้องมีส่วนร่วมในการจัดเก็บเพื่อนำบรรจุภัณฑ์นั้นไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล นั่นเอง”

“โดยเป้าหมายของการทำ EPR นั้น มี 2 ด้าน คือ การเปลี่ยนแปลงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้จัดการซากได้ง่ายขึ้น กับการปรับปรุงการจัดการที่ปลายน้ำเพื่อลดปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่เพิ่มปริมาณการรวบรวมและนำกลับมาใช้ประโยชน์ และถ้าทำ EPR ได้อย่างเป็นระบบและแพร่หลาย ย่อมเกิดประโยชน์ในสังคมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัด เพิ่มอัตราการรีไซเคิลช่วยลดงบประมาณท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยลง และที่สุดแล้วคือช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างได้ผล”

“อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความสำเร็จของการทำ EPR ต้องบอกว่า ไม่มีหลักสูตรหรือรูปแบบที่ตายตัว เราจะไป Copy & Paste รูปแบบจากต่างประเทศไม่ได้ คือ เราเรียนรู้และถอดบทเรียนของแต่ละประเทศมาได้ แต่เราต้องมาระดมสมองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและนำมาสู่แนวทางการปรับ EPR ที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะแน่นอนว่าในประเทศไทยเรายังมีร้านขายของเก่าทั้งรายใหญ่รายย่อยค่อนข้างมาก จะนำมาตรการนี้ไปปรับใช้อย่างไรและจะทำให้พวกเขามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง”

“ดังนั้น ขอเสนแนะแนวทางปัจจัยความสำเร็จของการทำ EPR ในประเทศไทย คือ ปัจจัยความสำเร็จของ EPR

  • กำหนด “นิยาม” “หน้าที่ความรับผิดชอบ” ของ “ผู้ผลิต” และทุกภาคส่วนใน value chains อย่างชัดเจน รวมดึง “ผู้บริโภค”
  • กำหนด “ตัวช่วย” ในการเก็บรวบรวมและสื่อสารกับผู้บริโภค ได้แก่ “อปท.” และ “ร้านค้าปลีก”
  • ออกแบบระบบที่คำนึงถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ (เอกชนบริหาร รัฐกำกับดูแล)
  • กำหนดเป้าหมายการเก็บรวบรวมและรีไซเคิล (ขั้นต่ำ) ที่ท้าทายและบรรลุได้จริง อาจเป็นขั้นบันได
  • ออกแบบกลไกการขึ้นทะเบียน กลไกติดตามตรวจสอบอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องกัน free riders ได้
  • ใช้ Eco-modulation fees เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำ eco-design”
เปิดตัว จังหวัดชลบุรี ต้นแบบนำร่องโครงการปรับใช้ EPR บริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ด้าน นภดล ศิวะบุตร รองประธาน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“ที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่แล้ว ทาง TIPMSE ได้วางเป้าหมายว่าจะเดินหน้าขับเคลื่อนด้านกลไกที่เหมาะสมกับประเทศไทย และจะดำเนินการโมเดลนำร่องและการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ EPR และการจัดการบรรจุภัณฑ์ โดยขอมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในด้านการสร้างโมเดลหรือต้นแบบจังหวัดนำร่อง เป็น Sandbox ว่าจะปรับใช้หลักการ EPR ลงไปใช้ในพื้นที่จริงได้อย่างไร”

โดยได้เปิดตัวโครงการ “PackBack Project…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” ที่จะดำเนินการในพื้นที่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ซึ่งเกณฑ์ที่เลือกสามเทศบาลนี้ก็เพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นเมืองและเป็นเกาะ โดยจะมุ่งไปที่การบริหารจัดการสร้าคุณค่าให้กับบรจุภัณฑ์ เช่น ขวดแก้ว กระดาษลัง กล่องกระดาษ พลาสติก (ขวด PET ขวด HDPE กระป๋องเครื่องดื่ม) เป็นหลัก”

“ทั้งเส้นทางการนำร่อง ระบบ EPR จะเริ่มตั้งแต่การ อุดหนุนรับซื้อบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่กำหนดไว้ ตั้งจุด Drop ขึ้นทะเบียนซาเล้ง พัฒนาร้านรับซื้อ ให้ความรู้เรื่องคุณภาพ วัตถุดิบ ของบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดและสนับสนุนอุปกรณ์คัดแยกที่ปลายทาง จากนั้นในขั้นขยายผล ก็จะสนับสนุนอุปกรณ์คัดแยกเศษอาหารให้สวัสดิการเครือข่ายรถซาเล้ง เพิ่มเครือข่ายร้านรับซื้อ จัดให้มีรถเก็บขยะแยกประเภท ทำลองจัดวันเวลา เก็บขนขยะ จนกระทั่งในขั้นขยายผลระดับจังหวัด ก็จะมีการถอดบทเรียนพัฒนาให้เป็นนโยบายการจัดเก็บในพื้นที่ต่อไป”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/06/06/epr-for-business-and-environment-sustainability-way/