ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้ นั่นก็คือ “แบตเตอรี่” ซึ่งมีแร่ที่เรียกว่า “ลิเธียม” เป็นส่วนประกอบหลัก
อย่างไรก็ตาม มีผลการสำรวจจากหลายสถาบันชั้นนำให้ข้อมูลตรงกันว่า ปริมาณลิเธียมบนโลกที่มีอยู่ตอนนี้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอ และเมื่อทรัพยากรที่มีอยู่มันไม่เพียงพอ “การนำกลับมาใช้ไหม่” จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายบริษัทเลือกใช้
เช่นเดียวกับการร่วมมือกันระหว่าง Toyota ผู้ผลิตรถยนต์ลำดับต้น ๆ ของโลก และ Redwood Materials บริษัทรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ ของผู้ร่วมก่อตั้ง Tesla ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีเป้าหมายคือ การรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเก่า เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
สำหรับบริษัท Redwood Materials มีจุดประสงค์คือ เพื่อสร้าง “ระบบซัพพลายเชนแบบปิด (Closed-Loop Supply Chain) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า” คือการทำให้แบตเตอรี่จากรถยนต์ไฟฟ้าคันเก่า สามารถนำกลับมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ได้
ซึ่งสาเหตุที่ Redwood Materials ต้องจับมือร่วมกับ Toyota ก็เพราะว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นตลาดเพิ่งเกิดได้ไม่นาน ดังนั้น แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน ยังไม่เข้าข่ายที่จะสามารถนำมารีไซเคิลได้
แต่สำหรับ Toyota เรียกว่าเป็น ผู้บุกเบิกรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้ารุ่นแรก ๆ ของโลกอย่าง “Totoya Priuses” ที่มีการทำตลาดในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มาแล้วเกือบ 20 ปี
นั่นหมายความว่า แบตเตอรี่ใช้แล้วของ Totoya Priuses คือวัตถุดิบชั้นดีในการกรุยทางสู่เป้าหมายของ Redwood Materials คือการสร้างระบบซัพพลายเชนแบบปิด ที่รีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเก่า มาใช้ใหม่ สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของ Toyota ที่จะมีการเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่ง Redwood Materials ได้เผยว่าอาจจะมีการสร้างฐานการดำเนินงานใกล้กับโรงงานของ Toyota ในอนาคตด้วย
Redwood Materials ยังได้เผยอีกว่า ตอนนี้บริษัทได้รับแบตเตอรี่ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ คิดเป็น 6 กิกะวัตต์/ชั่วโมง และถ้าเทียบกับอัตราการเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน จะทำให้บริษัทสามารถผลิตแบตเตอรี่รีไซเคิลได้ 100 กิกะวัตต์/ชั่วโมง ภายในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 500 กิกะวัตต์/ชั่วโมง ภายในปี 2573
น่าสนใจว่า ถ้าหากแบตเตอรี่รีไซเคิลถูกพัฒนาไปจนสามารถทดแทนแบตเตอรี่ใหม่จากโรงงานได้จริง ๆ จะสร้างผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน และอนาคตอย่างไรบ้าง เพราะการขาดแคลนลิเธียมก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้หลายบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ จึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ซึ่งถ้าไปถึงจุดนั้นจริง ๆ ไม่แน่ว่า เราอาจได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มท้องถนนได้เร็วกว่าที่คิด..
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/MarketThinkTH/photos/a.1393665140725873/5143027069122976/