ความปลอดภัย…มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้

Share

Loading

หากเราพูดคำว่า “ความปลอดภัย” ดูเหมือนไม่มีความหมายอะไร อาจเป็นคำที่ผ่านมาแล้วผ่านไป คำๆ นี้จะมีความหมายและทรงพลังต่อเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและเกิดความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ดิสรัปต์เฉพาะธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือ การศึกษา หากได้ทำลายล้าง คำว่า “ความปลอดภัย” ในรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อน หลากหลาย ตามองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมไปถึงรสนิยมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในรูปแบบ นิว นอร์มอล ท่ามกลางอาชีพใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีความหลากหลาย จนไม่สามารถกำหนดกรอบความปลอดภัยแบบเดิมได้อีกต่อไป เช่น เมื่อพูดถึงการทำงานบนที่สูง คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงการปีนเสา หรือ ตึกสูง แต่ในต่างประเทศเกิน 30 เซนติเมตรจากพื้นดินกฎหมายถือว่าสูงแล้ว ลอยสูงจากพื้น 1 ฟุตก็ทำให้ข้อเท้าพลิกได้ ทำให้บาดเจ็บได้ เพราะฉะนั้นการตระหนักในความปลอดภัย ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจและป้องกันตั้งแต่การบาดเจ็บขั้นพื้นฐานกันเลยทีเดียว

การได้นั่งสนทนากับ ผศ.ดร.ชลฤทธิ์ เหลืองจินดา ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. หน่วยงานในสังกัด กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำให้เข้าใจบริบทความปลอดภัยยุคใหม่ ที่ต้องมีการจัดการในรูปแบบ องค์การมหาชนกันเลยทีเดียว ภารกิจ “ความปลอดภัย” ถูกขับเคลื่อนในรูปแบบใหม่ ฉับไว เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนตระหนักในความปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำอย่างไรให้คนที่ประกอบวิชาชีพมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่ในมิติใด

ผอ.สสปท.เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้นิยามความปลอดภัยมีความหลากหลาย เราไม่สามารถกำหนดกรอบความปลอดภัยแบบเดิมได้อีกต่อไป จึงต้องออกแบบให้กลุ่มเป้าหมายขยายกว้างขึ้น เข้าไปส่งเสริม ให้ความรู้ ทั้งในเชิงวิชาการและการให้บริการที่หลากหลาย ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ ขยายฐานจากกลุ่มเดิม คือ แรงงาน (labor) เช่น คนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคเอสเอ็มอี ไปสู่กลุ่ม Worker ทำให้ภารกิจที่ต้องทำมากขึ้น กระตุ้นให้ทุกคนตระหนักในความปลอดภัย และเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัย นำองค์ความรู้เข้าไปสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการ คนทำงาน ว่าจะยกระดับตัวเองขึ้นมาอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ จนบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือแม้กระทั่งสูญเสียชีวิต

“ทุกวันนี้ มิติความปลอดภัยยุคใหม่เปลี่ยนไปเยอะ ยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ถ้ายังมุ่งอยู่ในมิติดั้งเดิม ก็จะตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ถ้ายังยึดหลักคือกลุ่มเลเบอร์ ยังไงก็ไม่เปลี่ยน แต่พอเปลี่ยนจากเลเบอร์ เป็น เวิร์กเกอร์ จะเกิดการตั้งคำถามใหม่ ต้องตีความการทำงานแบบไหน ถ้าตีความกว้างไปก็ทำงานลำบาก แต่ถ้าตีความแคบเกินก็ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย” ผอ.สสปท. กล่าว

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องตระหนักในวันนี้คือ การปรับมายเซทให้เข้าใจคำว่า “ความปลอดภัย” อย่างแท้จริง  เพราะราคาความปลอดภัยมี “มูลค่า” มหาศาลจนนับไม่ถ้วน ยิ่งถ้าเกิดความสูญเสียถึงชีวิต เงินเท่าไหร่ก็ทดแทนไม่ได้ หรือแม้กระทั่งอวัยวะขาดหายไปชีวิตก็อาจจะเปลี่ยนไปเลย ใครจะคิดว่าแม้แต่รายรับรายจ่ายก็ถือเป็น “ความปลอดภัยทางการเงิน” เมื่อรายได้ไม่ปลอดภัย ถูกปลดออกจากงาน ต้องเปลี่ยนอาชีพ ไปขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือ ขับรถส่งอาหาร ก็มีความเสี่ยงอีกรูปแบบเกิดขึ้น จะเตรียมพร้อมปกป้องความปลอดภัยในอาชีพใหม่อย่างไร เพราะการคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับบางคนยังมองว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ เนื่องจากไม้รู้ซึ้งถึงคำว่าความปลอดภัย เมื่อปัญหายังไม่เกิด จึงยังมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ทำอย่างไรจะให้ทุกคนมองเห็นภาพความปลอดภัยที่แจ่มชัด ตระหนักและป้องกันก่อนจะสาย

“ภารกิจของ สสปท. คล้ายกับโรงพยาบาล แต่ทำคนละจุด โรงพยาบาลรับรักษา คือรู้เมื่อสาย แต่ของเราทำก่อนสาย มูลค่าคือชีวิตคน คุณค่าของมิติจะเกิดขึ้นในตอนท้ายคือลดอาการบาดเจ็บ ลดการสูญเสีย ในต่างประเทศให้ราคากับงานที่เป็นเชิงป้องกันมาก เขาถือว่าการป้องกันจ่ายน้อยกว่าการแก้ไข ถ้าเราไม่ทำให้คนตระหนักในสิ่งเหล่านี้ มายเซทในเรื่องความปลอดภัยก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” ผอ.สสปท. เปรียบเทียบ

เมื่อการทำงานถูกผ่องถ่ายจากสถานประกอบการไปอยู่ในบ้าน หรือ เวิร์ค ฟอร์ม โฮม สรีระขณะนั่งทำงาน สัดส่วนการวางท่าทาง คือความเสี่ยงระยะยาว นั่งท่าผิดไม่ใช่แค่เมื่อย แต่อาจถึงขนาดต้องผ่าตัด อาจนำไปสู่ความสูญเสียอวัยวะจากท่านั่ง เรื่องเหล่านี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องนั่งท่านั้นท่านี้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยที่ต้องตระหนัก มิติความปลอดภัยจึงถูกขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ใช่แค่การระวังเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในสถานที่ทำงาน แต่การนั่งทำงานในบ้านก็ต้องมีความปลอดภัย

การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคน ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย องค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมไปถึงรสนิยมในการใช้ชีวิต มีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนตามสภาวะที่ต่างกัน มิติความปลอดภัย ความสมดุลต่างๆจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นพื้นฐานของอารยะสังคม ไม่ว่าจะเชิงกายภาพหรือเชิงความรู้สึก และเมื่อทุกชีวิตมีคุณค่า การดำรงชีวิตจึงต้องปลอดภัย เทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาแทนมนุษย์จะนำพารูปแบบที่ก้าวข้ามความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ การทำงานจะเกิดประสิทธิภาพและความหลากหลายอย่างกว้างขวาง ความรวดเร็วและความล้ำหน้าของเทคโนโลยีจะทำให้อุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคตเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของมนุษย์ไปสิ้นเชิง องค์ความรู้ด้านความปลอดภัยใหม่ๆ จะมาสอดรับกับพฤติกรรมความต้องการทำงานของมนุษย์ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของรูปแบบการส่งเสริม หรือการสร้างทัศนคติด้านความปลอดภัยที่จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของพฤติกรรมการทำงานยุคใหม่ สร้างแรงจูงใจในมิติใหม่ของความปลอดภัย ผ่านเครือข่ายต่างๆ หลายสาขา ถ้าเป็นการสื่อสารผ่านบริษัท หรือ โรงงานอุตสาหกรรม จะมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรับเรื่องไปขยายต่อ แต่คนทำงานที่บ้านไม่มีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนี้คอยควบคุม ทำอย่างไรให้เขาตระหนักในความปลอดภัย ซึ่งก็ต้องมีการสื่อสารแบบใหม่ ใช้เครือข่ายแบบใหม่เข้ามารณรงค์ส่งเสริม

“เรามองว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และต้องเป็นการสื่อสารูปแบบใหม่ เช่นการจัดงาน OSH Avenue International Conference หรือ OAIC 2022 ซึ่งเราได้พลิกวิถีปฏิบัติด้วยการเชิญกูรู 9 คนที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยเลย แต่มาพูดเรื่องเดียวกันคือความปลอดภัยในมิติของเขา เป็นการนำเสนอเรื่องความปลอดภัยในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม”

“ยิ่งป้องกันเร็วเท่าไหร่ ยิ่งลดการสูญเสียมากเท่านั้น” ผอ.สสปท. สรุป

แม้กระทั่งประโยคสุดท้ายที่เราคุยกันในวันนั้น ยังจุดแรงบันดาลใจให้บรรเจิดกับคำพูดที่ว่า…งานส่งเสริมมองไม่เห็นแต่รู้สึกได้ ความปลอดภัยมองไม่เห็นแต่สัมผัสได้

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/06/07/importance-of-safety/