วิกฤติโลกร้อนทำให้ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับปล่อยมลพิษ ซึ่งตอนนี้หลายประเทศกำลังขับเคลื่อนตัวเองสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ประเทศไทยเองก็เช่นกันได้มีตั้งเป้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ล่าสุดมีการศึกษาการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติด้วยหญ้าทะเล
ระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) มีความสำคัญกับโลกนี้เป็นอย่างมาก จึงมีการศึกษาเกี่ยวกับ Blue Carbon มากขึ้น มีการศึกษาของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติจากหญ้าทะเล โดยข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) รายงานว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า
โครงการการศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของบริษัท บางจากฯ และ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจากผลการสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อนมาก คาดว่ามีการสะสมคาร์บอนได้เป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ในรายละเอียด นอกจากนี้เมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต พบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความเสถียรสูงมาก ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะจากมนุษย์ แสดงถึงการดูแลรักษาทะเลในพื้นที่ของประชาชนเกาะหมากที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สภาพความสมบูรณ์เช่นนี้มีประโยชน์ในด้านการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาว อันจะมีส่วนสำคัญต่อแผนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังพบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำสูงมาก ทั้งปูม้า หอยจอบ ปลาชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด ที่ช่วยสนับสนุนอาชีพประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้ การดำเนินงานขั้นต่อไป จะวิเคราะห์ข้อมูลดูดซับกักเก็บคาร์บอน และทำการสำรวจเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนในการปลูกหญ้าทะเลโดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด
โครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เริ่มทำการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่างๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่
โดยสำรวจทั้งหมด 8 แหล่งทั่วเกาะหมาก เกาะกระดาด จัดระดับตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่มหลัก 5 กลุ่มย่อย โดยมีแหล่งหญ้าทะเลบริเวณด้านตะวันตกของเกาะกระดาด ได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงสุดในด้าน Blue Carbon คณะผู้วิจัยจึงทำการสำรวจในรายละเอียด โดยทำแผนที่การแพร่กระจายของหญ้าทะเลทั้งหมด 4 ชนิดที่พบในพื้นที่นี้ รวมถึงแหล่งสาหร่ายขนาดใหญ่ เช่น สาหร่ายซากัสซั่ม สาหร่ายพวงองุ่น ปะการัง ฯลฯ จากนั้นจึงเจาะสำรวจคาร์บอนที่สะสมอยู่ใต้พื้นท้องทะเล โดยใช้วิธีตามมาตรฐานสากล สามารถเปรียบเทียบกับผลการศึกษานานาชาติได้ (IUCN, 2021)
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด นับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะหญ้าทะเลมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า หากสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และขยายพื้นที่ของหญ้าทะเลให้มีปริมาณมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของเกาะหมาก อีกทั้งหญ้าทะเลจะช่วยดูดซับและชดเชยคาร์บอนได้ดีอีกด้วย
นอกจากนี้โครงการนี้ยังต่อยอดสู่การท่องเที่ยงอย่างยั่งยืน และการกำจัดขยะบนเกาะหมากอีกด้วย ซึ่งมีการทำงานตามแนวทาง Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่รู้จบ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ การจัดการขยะภาคการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะบนเกาะหมากอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักคิดที่เริ่มจากลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้เกิดเป็นขยะ และมีการบริหารจัดการขยะบนเกาะโดยเน้นการนำมาหมุนเวียนเพื่อการใช้ประโยชน์ให้ยาวนานที่สุด และสุดท้ายคือการเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยเป้าหมายการผลักดันเกาะหมากขึ้นเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
แหล่งข้อมูล