เลี้ยงลูกบนเมตาเวิร์ส ทางเลือกของพ่อแม่ยุคอนาคต

Share

Loading

เมตาเวิร์ส (Metaverse) กลายเป็นคำที่ปรากฏทั่วไปจนเข้าสู่กระแสหลักเรียบร้อยแล้ว ในหลากหลายวงการ ทั้งแฟชั่น, ห้างสรรพสินค้า, ธุรกิจเกม และอื่นๆ อีกมากมาย ต่างเริ่มพยายามจับจองพื้นที่เพื่อให้มีตัวตนบนโลกใบใหม่ที่มีชื่อว่า เมตาเวิร์ส

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสของการพูดถึงเมตาเวิร์ส นั่นคือคำถามที่ว่า พ่อแม่ในยุคอนาคตกำลังจะมีโอกาสเลือกใช่หรือไม่ว่า นอกจากการมีลูกในชีวิตจริงแล้ว คนที่อยากจะเป็นพ่อคนแม่คน สามารถทดลองมีลูก หรือเลี้ยงลูกในโลกเมตาเวิร์ส ก่อนที่จะต้องรับมือกับลูกในชีวิตจริง

คาทริโอนา แคมป์เบลล์ นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้าน UX (User Experience) ได้ตีพิมพ์บทความที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า In AI by Design: A Plan For Living With Artificial Intelligence ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า แผนการใช้ชีวิตร่วมกับปัญญาประดิษฐ์

แคมป์เบลล์ ประเมินว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้านี้ โลกจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปถึงขั้นสร้างทารกในโลกเมตาเวิร์สได้เลย โดยเธอเรียกเด็กในยุคดังกล่าวว่า “คนรุ่นทามาก็อตจิ”

แน่นอนว่า คงมีผู้อ่านจำนวนมากคงเกิดไม่ทันยุคทามาก็อตจิ สิ่งนี้ก็คือ สัตว์เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์ ห่อหุ้มด้วยตัวเครื่องที่เป็นพลาสติก ด้านหน้ามีหน้าจอ LCD โดยที่เจ้าของ (หรือก็คือพวกเราที่เป็นคนเลี้ยง) ต้องทำหน้าที่ป้อนข้าว ป้อนอาหาร ทำความสะอาด เพื่อสร้างสุขลักษณะที่ดี โดยทามาก็อตจิมีอายุเต็มที่ราว 12 วัน ก่อนที่มันจะตายแล้วเข้าสู่กระบวนการเลี้ยงดูใหม่อีกครั้งหนึ่ง

แคมป์เบลล์ เชื่อว่า การเลี้ยงทารกในเมตาเวิร์ส มีข้อดีสำคัญอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ สามารถช่วยลดปัญหาประชากรล้นโลกได้ ซึ่งผมเชื่อว่า เราคงจินตนาการออกได้ไม่ยากว่า เมื่อประชากรโลกมีมากเกินไป ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการจัดหาอาหาร พลังงาน และน้ำสะอาด ไม่นับรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความซับซ้อนในการแก้ปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี ถ้าจะให้อธิบายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น การเลี้ยงลูกให้เติบโตได้สักคนหนึ่งเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ชนิดที่เราไม่ต้องอธิบายใดๆ เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย การทำให้บุตรของเราอยู่ในร่องในรอย ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจใดๆ เลย หากคู่รักในปัจจุบันเลือกที่จะไม่มีบุตรตั้งแต่แรก เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรมันสูงเสียเหลือเกิน

ในทางตรงกันข้าม หากคู่รักในอีก 50 ปีข้างหน้า ตามที่แคมป์เบลล์ เขียนเอาไว้ในบทความอยากที่จะลองมีลูก แม้จะเป็นลูกบนเมตาเวิร์สก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเลี้ยงลูกบนเมตาเวิร์สย่อมมีราคาค่างวดที่ถูกกว่าการมีลูกจริงๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

เช่นเดียวกัน เด็กทารกบนเมตาเวิร์ส ไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารและน้ำดื่ม (แบบในชีวิตจริง) แต่ยังคงสามารถตอบสนองต่อพ่อแม่ รวมถึงด้วยเทคโนโลยีในอนาคตที่น่าจะก้าวหน้าจนถึงขั้นทำให้ลูกของเราบนเมตาเวิร์สสามารถแสดงความเป็นธรรมชาติของทารกได้ใกล้เคียงที่สุด โดยที่ทารกดิจิทัลเหล่านั้น จะมาพร้อมด้วยพัฒนาการจากทารก สู่วัยเด็ก และก้าวเข้าสู่วัยรุ่นได้ที่สุด หรือแม้แต่การมีออปชันให้เลือกได้ว่าไม่ต้องโตก็คิดว่าน่าจะทำได้ (แต่ก็ชวนทำให้รู้สึกขนลุกอยู่เหมือนกัน ที่เด็กคนหนึ่งจะต้องถูกฟรีซให้เป็นเด็กไปโดยตลอด)

ในส่วนเรื่องของหน้าตาของทารกในเมตาเวิร์ส ก็คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก เพราะ CGI สามารถช่วยได้ ผนวกกำลังกับแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) ขั้นสูง ช่วยปั้นใบหน้าและร่างกายให้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับพ่อและแม่ได้

ประการสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเด็กทารกในเมตาเวิร์ส เข้าสู่วัยรุ่นแล้วลูกของเราทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังขึ้นมา จะด้วยเรื่องอะไรก็ตามแต่ ก็สามารถกดปุ่มรีเซต เพื่อเริ่มต้นใหม่ได้ แต่ก็ชวนทำให้รู้สึกขนพองสยองเกล้าอีกเช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม นั่นก็อาจทำให้คนที่เตรียมพร้อมสู่การเป็นพ่อและแม่ในชีวิตจริง ได้รับมือถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว การรับมือหรือการเตรียมความพร้อมอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลยก็ได้เพราะท้ายที่สุดเแล้วคนที่จะเป็นพ่อหรือแม่ ก็คงต้องเรียนรู้ความเป็นพ่อและแม่ไปพร้อมๆ กับลูกของตัวเองอยู่ดี

อันที่จริงสิ่งที่ คาทริโอนา แคมป์เบลล์ เขียนไว้ใน In AI by Design: A Plan For Living With Artificial Intelligence เสนอแนวคิดว่า ถ้าหากเราคิดบนหลักการของการมองว่า มันเป็นต้นทุนที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงมาก และอาจไม่ต้องกังวลถึงอนาคตข้างหน้าของเด็กที่ต้องเติบโตไปเป็นประชากรของโลก ก็อาจพอกล้อมแกล้มบอกได้ว่า การเลี้ยงลูกบนเมตาเวิร์ส (อาจจะ) เป็นสิ่งที่ดี

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/news/tech/2437660