NIA เดินหน้าส่งเสริมนโยบายการดึงดูดการทำธุรกิจและลงทุนจากต่างชาติ พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากทั่วโลก นำร่อง 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และอีอีซี
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าส่งเสริมนโยบายการดึงดูดการทำธุรกิจและลงทุนจากต่างชาติ พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากทั่วโลก โดยนำร่อง 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อให้เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub) เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และเครือข่ายต่าง ๆ พร้อมเผย 4 เหตุผลหลักที่ต่างชาติควรมาลงทุนหรือทำธุรกิจในไทย ด้วยความพร้อมด้านทรัพยากร และความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ที่ผ่านมา NIA มีการจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Hub) ขึ้นใน 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อรองรับสตาร์ทอัพและนักลุงทุนจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้สามารถดำเนินการด้านธุรกิจและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากต่างชาติที่สนใจมาทำธุรกิจในไทยมักมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชี การจดทะเบียนธุรกิจ หรืออื่น ๆ เกี่ยวกับด้านกฎหมาย
ศูนย์ Global Hub จึงมีกิจกรรมและการให้บริการหลากหลายด้าน เช่น การบ่มเพาะเร่งการเติบโตของธุรกิจ การให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจ การตลาด กฎหมาย และทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างเครือข่ายของกลุ่มสตาร์ทอัพและนักลงทุน เพื่อเป็นเวทีพบปะนักลงทุนและเจรจาต่อยอดธุรกิจ รวมถึงกิจกรรมให้ความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรม โดยผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://globalhub.startupthailand.org/ หรือ https://www.facebook.com/GlobalStartupHubTH/
สำหรับ 4 จุดเด่นหลักที่นานาชาติควรมาทำธุรกิจหรือลงทุนในไทย ได้แก่
1) ประเทศไทยอยู่สบาย และมีต้นทุนทางธุรกิจไม่สูง พื้นที่สำนักงานทำเลดีในกรุงเทพมีราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับเมืองชั้นนำอื่น ๆ ในภูมิภาค คิดเป็นประมาณ 50% ของสำนักงานในโฮจิมินห์ซิตี้ 40% ของสำนักงานในโซล และสิงคโปร์ และเพียง 25% ของสำนักงานในนิวเดลี โตเกียว และปักกิ่ง ในขณะที่ค่าแรงในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วยสภาพเศรษฐกิจ ค่าแรงในไทยยังจัดอยู่ในเกณฑ์ที่สมเหตุสมผลกับแรงงานทักษะสูง และอัตราเงินเฟ้อของค่าจ้างในประเทศไทยจัดอยู่ในระดับต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งประเทศไทยยังมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน โดยมีฐานผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อรวมกว่า 246.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเอื้อต่อการขยายธุรกิจ เนื่องจากเป็นตลาดร่วม 10 ประเทศอาเซียนที่มีผู้บริโภค 661.8 ล้านคน
นอกจากนี้ประเทศไทยยังขึ้นชื่อว่ามี ‘Innovation for Crafted for Living’ หรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความประณีตในการใช้ชีวิต ซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอนวัตกรรมที่เป็นจุดเด่นของคนไทยมาตั้งแต่อดีต โดยประเทศไทยได้ผันตัวเองจากประเทศฐานวัฒนธรรมมาเป็นประเทศฐานนวัตกรรม ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมในหลากหลายรูปแบบมาช่วยเติมเต็มการดำเนินชีวิตของเราให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น
2) ประเทศไทยมีความสามารถด้านห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก เป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยผลผลิตทางภาคการเกษตร ติดอันดับ 1 ใน 3 ฐานส่งออกชั้นนำของอาเซียน เป็นผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของโลก เช่น ข้าวและยางธรรมชาติ ไทยมีบริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลกอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด หรือบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก อย่างกลุ่มมิตรผล
กระทรวงพาณิชย์ระบุในปี 2564 ว่าการส่งออกของไทยขยายตัว 17.07% เป็น 271.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหมวดหมู่การส่งออก 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ รถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริม เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับ
มีคู่ค้ารายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่ยังช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิต เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากธุรกิจคู่ค้า ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลก
3) เอกชนไทยมีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสูง โดยจากผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index ; GII) ประเทศไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ เป็นอันดับ 1 สองปีซ้อน (2563-2564) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนขนาดใหญ่ของไทยมีศักยภาพ และความพร้อมเป็นอย่างมาก สามารถลงทุนที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องรอการลงทุนจากต่างชาติ
และ 4) ภาครัฐมีการสนับสนุน และส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง ตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน มีการมุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการสนับสนุนด้านเงินทุนในแก่โครงการวิจัย และโครงการนวัตกรรมรวมถึงมีการดึงดูดต่างชาติ ไม่เพียงการมาท่องเที่ยว แต่เป็นการมาทำธุรกิจหรือลงทุนในประเทศไทย โดยมีโครงการ Smart Visa ซึ่งเป็นวีซ่าประเภทพิเศษที่ NIA ร่วมกับ BOI ออกแบบมาเพื่อดึงดูดต่างชาติผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนเข้ามาในไทย เพื่อกระตุ้ นให้เกิดการลงทุนในกิจการฐานความรู้ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
และที่สำคัญจากรายงานผลการจัดอับดันดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก (Global Startup Ecosystem Index) โดย Startupblink ที่มีการจัดอันดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมืองที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลก
NIA ได้รับการกล่าวถึงในรายงานว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีการส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพอย่างเข้มข้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์การเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมนวัตกรรมของ NIA ในเวทีโลก
พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ในฐานะหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมให้เกิดระบบนวัตกรรมของประเทศที่เข้มแข็ง จึงมีบทบาทเป็นผู้เชื่อมโยงเครือข่ายในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางด้านนวัตกรรม หรือ “Focal Facilitator” โดยจะเดินหน้าส่งเสริมการเข้ามาของสตาร์ทอัพ และนักลงทุนจากนานาชาติ
พร้อมวางแผนการดำเนินงานภายใน 3 ปีกับ 4 ภารกิจสำคัญ ได้แก่
1) สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นมิตรเอื้อต่อการทำธุรกิจและลงทุน
2) ผลักดันให้เกิดการลงทุนจากนานาชาติจำนวนมากขึ้น
3) สร้างแบรนด์ “Innovation Thailand” ให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก
4) สร้างการเติบโตให้สตาร์ทอัพไทยไปไกลในระดับโลก
แหล่งข้อมูล