มรภ.ราชนครินทร์ ใช้ “กลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย city data platform” ผลักดันฉะเชิงเทราสู่สมาร์ทซิตี้ เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน
ปัจจุบันมีจัดการแก้ไขปัญหาการจัดการเมือง หรือพัฒนาประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น กรุงเทพฯใช้ traffic fondue ที่ให้ประชาชนคอยแจ้งปัญหาถึงผู้รับผิดชอบโดยตรง พร้อมกับแสดงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และทำให้เห็นปัญหาตั้งแต่ระดับเล็ก หรือ รากฝอย ไปจนถึงปัญหาระดับใหญ่ ซึ่งการพัฒนากลไกต่าง ๆ นี้ มีทั้งความร่วมมือจากทางภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
“city data platform” กลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมือง
ล่าสุด “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์“ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาเมือง ชุมชนไปสู่สมาร์ทซิตี้ โดยดำเนินการในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนโครงการต่างๆ อันนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพของคนในชุมชน
“กลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย city data platform” เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองฉะเชิงเทราสู่สมาร์ทซิตี้ โดยใช้พลังของข้อมูลจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มาร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ทิศทางในการพัฒนาเมืองแต่ละปีว่าจะดำเนินการเรื่องใด ใช้งบประมาณไปในเรื่องใด เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนขึ้นจริง
มรภ.ราชนครินทร์ ดันฉะเชิงเทราสู่สมาร์ทซิตี้
รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ที่กำลังเดินหน้าผลักดันการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เข้าร่วมเสวนา “กลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย city data platform” เพื่อการยกระดับชุมชน
โดยมีการร่วมมือกันทั้งจากภาคการศึกษา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และในระดับจังหวัด เพื่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ด้วยการขับเคลื่อน Digital University
“มหาวิทยาลัยได้ดำเนินด้วยกลไกพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย city data platform มาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าว นอกจากนำมาใช้พัฒนาหลักสูตร พัฒนาบุคลากร (Smart People) ทั้งผู้สอนและผู้เรียนแล้ว ยังมีการพัฒนางานวิจัยที่ต่อยอดไปในพื้นที่ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย (Consulting Thailand ยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็น Digital University อย่าง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว
โดยเฉพาะการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สวทช. บริษัท ดาว ประเทศไทย, Gistda, Minor group, บริษัท ISS
รวมข้อมูลไว้แหล่งเดียวกำหนดเป้าหมายของจังหวัด
“city data platform” เป็นกลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองที่หน่วยงานระดับจังหวัด ทุกภาคส่วนต้องระดมข้อมูลร่วมกันและนำมาไว้ในจุดๆ เดียว “มรภ.ราชนครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ เป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมจึงต้องร่วมกับทุกภาคส่วนช่วยพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง
ทางจังหวัดฉะเชิงเทราประกาศชัดเจนว่าจะเป็น เมืองสมาร์ทซิตี้ โครงการต่างๆ จึงเกิดขึ้น โดยมรภ.ราชนครินทร์ จะดูแลรับผิดชอบในเรื่องของ Smart people พัฒนาคนในทุกมิติ ตั้งแต่ในกลุ่มการศึกษา การเกษตร ผู้ประกอบการ เศรษฐกิจ มีการ upskill และ reskill คนในพื้นที่เพิ่มคุณภาพชีวิต รายได้ และเป็นการรวบรวมคณะทำงานในชุมชน
“การดำเนินงานต่างๆ จะใช้ city data platform หรือข้อมูลเป็นตัวตั้ง และทำงานร่วมกับคนในชุมชน ซึ่งหากคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือการขับเคลื่อนต่างๆ คงไม่เกิดขึ้น โดยข้อมูลจะแบ่งคณะทำงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ทำบัญชีภาครัฐ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และการทำธรรมาภิบาล” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว
“ฉะเชิงเทรา” เมืองสมาร์ทซิตี้ น่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน
เป้าหมายของการพัฒนาเมืองฉะเชิงเทรา สู่สมาร์ทซิตี้ เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน ด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี เมื่อรวมรวมข้อมูลมาแต่ละที่แล้วจะมการวิเคราะห์ สังเคราะห์ทางสถิติ และนำข้อมูลเหล่านั้น มาฉายภาพให้เห็นเป็นเทรนด์ หรือแนวโน้มที่ทางจังหวัดควรทำ เป็นการคาดการณ์ที่แม่นยำและตรงเป้าหมาย
หลังจากนั้นจะมีการติดตามประเมินผล และประชาสัมพันธ์ สร้างความร่วมมือ อย่างในปี2565 นี้ จะมุ่งเรื่องการพัฒนาสินค้าเกษตรกร ปลอดภัย และ Zero Waste โดยมีการอบรมทำความเข้าใจกับเกษตรกร และผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องการยกระดับมาตรฐานของสินค้าเกษตร และการดูแลบริการจัดการเรื่องขยะ การให้ประชาชนได้เรียนรู้การจัดการขยะ หรือการนำขยะกลับมาเป็นโปรดักส์ เป็นสินค้าที่เพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ และรักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย
“จากการดำเนินงาน กลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย city data platform สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจน คือ คุณภาพชีวิต และรายได้ของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น เห็นความร่วมมือของคนทุกภาคส่วนในการพัฒนาจังหวัด ทำให้ขณะนี้จังหวัดฉะเชิงเทรามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และการใช้ข้อมูลมาพัฒนาเมือง ทำให้เห็นจุดเด่น จุดด้อยของเมืองอย่างชัดเจน อันนำไปสู่การพัฒนาหรือการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว
บทบาทหน้าที่ของสถาบันการศึกษา ไม่ใช่เพียงให้ความรู้ พัฒนาคนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ต้องขยายองค์ความรู้ งานวิจัย ร่วมพัฒนาคนในชุมชนด้วย
“กลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย city data platform” มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ จะใช้พลังของข้อมูลสร้างการเปลี่ยนแปลงคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการนำงานวิจัย เทคโนโลยีมาใช้จริงในพื้นที่ ให้ทุกคนมีชีวิตสมาร์ททั้ง 7 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) และการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)ให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีความรู้ และมีรายได้
แหล่งข้อมูล